ดังนั้น หากไทยได้รับการอนุญาตจากเกาหลีใต้ก็จะเป็นโอกาสสำคัญในการขยายตลาดส่งออกของ GFPT ด้วย อย่างไรก็ตาม ตลาดเกาหลีใต้ไม่ได้นำเข้าไก่สดจากไทยมานานกว่า 10 ปี หรือตั้งแต่ปี 47 เนื่องจากปัญหาการระบาดของไข้หวัดนกในไทย และไม่ใช่ จึงต้องมีการตรวจสอบความต้องการลูกค้าก่อน
"ทางภาครัฐของเกาหลีใต้เขาจะประกาศออกมาว่าจะนำเข้าได้เมื่อไร ข้อดีทำให้ไทยมีตลาดส่งออกมากขึ้น ถือเป็นทิศทางที่ดี เป็นโอกาสบริษัทเปิดตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น"นางสาวจุฑามาส กล่าว
ปัจจุบัน GFPT มียอดส่งออก 20% ของยอดขายรวม โดยมีตลาดอียู และญี่ปุ่น เป็นลูกค้าหลักสัดส่วน 50:50
ส่วนทิศทางธุรกิจปีนี้ นางสาวจุฑามาส กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมในปีนี้ที่ 1.6-1.8 หมื่นล้านบาท เติบโต 5-8% จากปีก่อน และจะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นปีนี้ใกล้เคียงปีที่แล้วที่มีอัตราเฉลี่ย 11-12% เพราะปีนี้ได้รับอานิสงส์จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวลง ได้แก่ ข้าวโพด และ กากถั่วเหลือง เป็นต้น อย่างไรก็ต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะทำให้ราคาข้าวโพดปรับตัวสูงขึ้นได้
ขณะที่คาดว่าปีนี้ราคาไก่เฉลี่ยใกล้เคียงปีก่อนที่มีราคาเฉลี่ยที่ 36 บาท/กก. ซึ่งต้นปีก่อนราคาปรับลงจากภาวะซัพพลายล้นตลาด แต่ปัจจุบันราคาไก่อยู่ที่ 37-38 บาท/กก. ซึ่งอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่และฤดูท่องเที่ยว
"ปีนี้บริษัทมีความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกค่อนข้างมาก ความต้องการไก่อาจไม่เติบโตมากนัก เพราะฉะนั้นในปีนี้เราไม่ผลีผลามขยายธุรกิจ" นางสาวจุฑามาส กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงลงทุนขยายฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อต่อเนื่องให้ครบ 3.5 แสนตัว/วันตามแผนระยะยาว เริ่มปี 58-63 โดยปีนี้จะเพิ่มกำลังการผลิตปีละ 2.5 หมื่นตัว/วันใช้เงินลงทุนปีละ 1 พันล้านบาท เพื่อรองรับการขยายปู่ย่าพันธ์ไก่ที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยปีนี้คาดว่าฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้ออยู่ที่ 2.8 แสนตัว/วัน ขณะที่โรงงานไก่แปรรูปยังสามารถรองรับกำลังการผลิต ซึ่งปัจจุบันใช้กำลังการผลิต 80% ของกำลังการผลิตรวมที่ 3 แสนตัว/วัน หรือประมาณ 2.6 แสนตัว/วัน
"ในปี 58 ที่ผ่านมาผลประกอบการถือว่าน่าพอใจ ซึ่งอุตสาหกรรมไก่มีภาวะ over supply ราคาไก่ตกลงแต่บริษัทก็ยังทำกำไรได้ ส่วนแนวโน้มปี 59 ข้อระวังเรื่องเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ว่ามีผลกระทบกำลังซื้อ" นางจุฑามาส กล่าว
ทั้งนี้ GFPT มีรายได้จากไก่แปรรูป ประมาณ 54% จากการจำหน่ายไก่เป็นให้บริษัทย่อย 25% และ รายได้จากอาหารสัตว์บกและสัตว์น้ำ ประมาณ 25%