บลจ.วรรณ ออกกองตราสารหนี้ในปท.จังหวะดอกเบี้ยโลกต่ำ ขาย 27 ม.ค.-5 ก.พ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 27, 2016 16:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ เปิดเผยว่า บลจ.วรรณ จับจังหวะอัตราดอกเบี้ยโลกทรงตัวระดับต่ำ หนุนสภาพคล่องล้นระบบ เชื่อเม็ดเงินไหลคืนตลาดตราสารหนี้ พร้อมเปิดเสนอขายกองทุน วรรณ อินคัม พลัส 1Y ฟันด์ (ONE-INCOMEPLUS1Y) เน้นลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศ โดยมีเป้าหมายเลิกกองทุนเมื่อหน่วยลงทุนแตะผ่านระดับ 10.33 บาทต่อหน่วยภายใน 1 ปี โดยเปิดเสนอขายระหว่างวันที่ 27 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์นี้

ทั้งนี้ หากกองทุนไม่แตะระดับ 10.33 บาทต่อหน่วย เมื่อครบกำหนดอายุโครงการ 1 ปี กองทุนจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติที่ระดับราคาเป้าหมาย 10.15 บาทต่อหน่วย ซึ่งทำให้เป้าหมายดังกล่าวมากกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ อีกทั้ง กองทุน ONE-INCOMEPLUS1Y จะแบ่งสัดส่วนการลงทุน 60% ตราสารหนี้ประเภท High Yield Bond ในประเทศ และ 40% ลงทุนพันธบัตรรัฐบาล โดยเน้นกลยุทธ์การลงทุนแบบ Trading จับจังหวะการปรับขึ้นของราคาพันธบัตร

นายวิน กล่าวว่า จากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก อาทิ กลุ่มประเทศยูโรโซน ประเทศญี่ปุ่น และจีน ผ่านนโยบายการเงินโดยการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันนี้มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 0.05%-0.10% และ 3.18% ตามลำดับ อีกทั้ง ตลาดคาการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) มีแนวโน้มชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปเป็นช่วงเดือนมิถุนายน จากกำหนดการเดิมในเดือนมีนาคม เนื่องจากอัตราราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งกระทบต่อการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก

บริษัทคาดว่า ในช่วงครึ่งปีแรก อัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศจะยังคงทรงตัว เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศรวมทั้งตัวเลขเงินเฟ้อของประเทศให้เพิ่มขึ้น และรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ อีกทั้งป้องกันการเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือน อย่างไรก็ดี บริษัทคาดการณ์ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศยังมีโอกาสปรับขึ้นอีก 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1.75% ในช่วงครึ่งหลังปี 2559

"อุปทานน้ำมันที่ล้นตลาดและความต้องการใช้น้ำมันที่ลดลง ส่งผลกดดันทิศทางราคาน้ำมันและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งบริษัทมองว่า รัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักต้องเริ่มหาเครื่องมือเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยจะส่งผลเชิงบวกต่อปริมาณเม็ดเงินที่จะเข้ามาในระบบให้เพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทมองว่า ตลาดตราสารหนี้ก็จะเป็นหนึ่งสินทรัพย์ที่ได้รับผลดีจากสภาพคล่องล้นระบบในครั้งนี้"ดร.วิน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ