ส่วนรายได้ในปีนี้ คาดว่าจะเติบโตราว 10-15% จากปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามอัตราเติบโตของปริมาณกากอุตสาหกรรมที่จะเข้าสู่ระบบเพื่อกำจัดมากขึ้นจากปี 58 ที่มีอยู่ราว 4-5 แสนตัน โดยมีทั้งจากฐานลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ ขณะที่มองราคากำจัดกากอุตสาหกรรมยังคงทรงตัว สำหรับรายได้ในปี 58 คาดว่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่คาดว่าจะเติบโต 10-15% จากปี 57 เช่นกัน
"กำไรน่าจะเติบโตได้ก้าวกระโดดในช่วง 1-2 ปีนี้ เพราะโรงไฟฟ้าโรงแรกจะเข้าประมาณช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ล่าช้านิดหน่อย ส่วนโรงที่สองจะเข้าระบบในกลางปีหน้า...ปริมาณการกำจัดกากอุตสาหกรรมก็จะเข้าสู่ระบบมากขึ้นด้วย"นายสุวัฒน์ กล่าว
นายสุวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว หลังจากที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมดำเนินการกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ก่อนหน้านี้ ก็คาดว่าจะเห็นการลงทุนเกิดขึ้นได้ในปีนี้ โดยวางเป้าหมายการลงทุนใน 3 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลางและปริมณฑล , ภาคตะวันออกที่เป็นโซนอุตสาหกรรม และภาคตะวันตก ซึ่งคาดว่าการพัฒนาพื้นที่จะอยู่ที่ราว 1,000 ไร่/แห่ง และใช้เงินลงทุนราว 1,000 ล้านบาท/แห่ง
สำหรับการลงทุนในปีนี้ คาดว่าจะใช้ในวงเงินใกล้เคียงกับปีที่แล้วเพื่อใช้ลงทุนตามแผนงาน โดยส่วนหนึ่งจะมาจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (PP) จำนวนไม่เกิน 319.89 ล้านหุ้น ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาลงทุนราว 2-3 ราย ซึ่งคาดว่าจะสรุปได้ก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนเม.ย.นี้
นายสุวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม 2 แห่ง กำลังการผลิตแห่งละ 9.4 เมกะวัตต์ มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแห่งละ 8 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าทั้งสองตั้งอยู่ในจ.สระบุรี ใช้เชื้อเพลิงอัดแท่ง (Refuse Derived Fuel Project-RDF) จากขยะอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันบริษัทผลิต RDF อยู่ราว 500 ตัน/วัน สามารถรองรับการผลิตไฟฟ้าจากโรงงานทั้งสองแห่งได้หมด ขณะที่ตามข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม พบว่าประเทศไทยมีปริมาณขยะอุตสาหกรรมราว 30 ล้านตัน/ปี โดยปริมาณขยะประมาณ 1 ล้านตัน สามารถผลิตไฟฟ้าได้ราว 100 เมกะวัตต์
สำหรับในวันนี้ BWG และกฟผ. ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อศึกษาการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม โดยคาดว่าภายในปีนี้จะสามารถสรุปโอกาสการลงทุนร่วมกัน ซึงจะต้องพิจารณาจากปริมาณขยะอุตสาหกรรม เพื่อนำมาพิจารณาถึงปริมาณไฟฟ้าที่จะสามารถผลิตได้ และนำไปสู่ขั้นตอนสัดส่วนการร่วมลงทุนต่อไป แต่เบื้องต้นความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยให้การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะอุตสาหกรรมบรรลุความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
ด้านนายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ที่เป็นความร่วมมือระหว่างกันครั้งนี้ จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมในเร็วๆนี้ โดยหากกฟผ.ไม่สามารถเข้าร่วมลงทุนได้ด้วยตัวเองเพราะติดขัดในเรื่องข้อกฎหมาย ก็อาจจะให้บริษัทลูกของกฟผ.เป็นผู้ร่วมดำเนินการแทน
ขณะที่นายสุทัศน์ บุณยอุดมศาสตร์ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการสายงานบัญชีและการเงิน BWG กล่าวว่า โรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมของกลุ่ม BWG จำนวน 2 แห่งนั้นเป็นการดำเนินโครงการภายใต้บริษัท เอิร์ธ เท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด ซึ่ง BWG ถือหุ้นราว 60% ขณะที่โรงไฟฟ้าจะสามารถสร้างรายได้ได้ราว 400-500 ล้านบาท/แห่ง และสร้างกำไรได้ราว 200 ล้านบาท/แห่ง โดยบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าเข้ามาตามสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งจะเริ่มรับรู้ฯ แห่งแรกในปีนี้
อนึ่ง ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ในปี 58-79 มีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน จากพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งสิ้นประมาณ 19,635 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้เป็นขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ ซึ่งโรงไฟฟ้าของกลุ่ม BWG ที่จะเดินเครื่องผลิตในไตรมาส 3/59 นี้นับเป็นโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมแห่งแรกของประเทศไทยด้วย