นอกจากนี้ บริษัทเตรียมงบลงทุนไว้ 3 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นการเข้าไปซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงินจำนวน 2 หมื่นล้านบาท โดยใช้เงินลงทุน 1 พันล้านบาท และเงินลงทุนอีก 2 พันล้านบาท จะเป็นการปล่อยกู้ให้กับลูกค้ารายย่อย โดยผ่านแบรนด์ เจ มันนี่ (J-Money) โดยวางเป้าหมายใน 2-3 ปีข้างหน้า จะปล่อยสินเชื่อเติบโตปีละ 2 พันล้านบาท ซึ่งปัจจุบันพอร์ตสินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 597 ล้านบาท
"ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีในปัจจุบัน ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ทำให้แบงก์มีการขายหนี้ออกมาเยอะ และเป็นโอกาสที่ดีที่บริษัทจะเข้าไปซื้อหนี้เสียจากแบงก์ โดยไตรมาส 2 จะซื้อหนี้เสีย 5 พันล้านบาทจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างแข่งราคา ส่วนอีก 1.5 หมื่นล้านบาท จะเห็นในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งจะทำให้พอร์ตหนี้เสียสิ้นปีนี้แตะ 1 แสนล้านบาท โดยธุรกิจซื้อหนี้จะรับรู้รายได้ช้าไม่เหมือน J-Money ที่จะรับรู้รายได้ได้เร็วกว่า"นายปิยะ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯของ JMT Plus ได้เลื่อนจากปี 60 ไปเป็นปี 62 เนื่องจากบริษัทยังมีงบผลการดำเนินงานที่ขาดทุนอยู่ ทำให้ยังไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด ซึ่งจะต้องมีกำไร 3 ปีติดต่อกัน โดยคาดว่าภายในปี 62 จะนำ JMT Plus เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ โดยบริษัทได้แต่งตั้ง บล.เอเซียพลัส เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
นอกจากนี้ บริษัทเตรียมร่วมมือกับธนาคารในประเทศญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีด้านสินเชื่อบุคคล คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในไตรมาส 3/60 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ประกอบกับ บริษัทได้เข้าไปทำธุรกิจที่พม่าร่วมกับ JMART ในการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล โดยปีแรกตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 30 ล้านบาท และบริษัทจะขยายไปพร้อมกับการขยายสาขาของ JMART