"ดีล M&A ก็จะมีทั้งที่ operate แล้ว และที่เป็น green field สัปดาห์หน้าก็จะมีออกมา 1 ดีลเป็นพลังงานหมุนเวียน ส่วนที่เหลือก็น่าจะได้เห็นเร็วๆก่อนที่ BPCG (บริษัท บีซีพีจี จำกัด) จะเข้าตลาดฯ"นายชัยวัฒน์ กล่าว
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับดีลแรกที่จะประกาศออกมาคาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่มากนัก ขณะที่บริษัทยังมีกระแสเงินสดค่อนข้างมากเพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าวได้ อีกทั้งในช่วงไตรมาส 4/58 บริษัทยังจะรับรู้กำไรจากการขายหุ้นทั้งหมดราว 10.66% ในบมจ.อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำนวนหนึ่งด้วยในระดับที่ไม่มากนัก
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทยังอยู่ในระดับที่ดี อาจจะมีผลขาดทุนจากสต็อกน้ำมันบ้างเป็นบางช่วง ตามทิศทางราคาน้ำมัน แต่การที่มีผลขาดทุนจากสต็อกก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัท ขณะที่ค่าการกลั่นยังคงอยู่ในระดับทรงตัว ซึ่งในปีที่ผ่านมาธุรกิจโรงกลั่น สามารถทำสัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ไม่รวมผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน ได้ราว 60% ส่วนที่เหลือมาจากธุรกิจโรงไฟฟ้า
ขณะที่การหยุดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (CDU) และหน่วยประกอบอื่นๆ เป็นเวลา 46 วัน ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ.-24 มี.ค.59 นั้น จะไม่กระทบต่อแผนงานของบริษัท เนื่องจากได้มีการสต็อกผลิตภัณฑ์ไว้เพียงพอกับความต้องการใช้แล้ว แต่จะทำให้การใช้กำลังการกลั่นเฉลี่ยทั้งปีนี้ลดลง จากระดับปกติที่กลั่นในระดับ 1.14-1.15 แสนบาร์เรล/วัน
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ และคาดว่าในช่วงครึ่งแรกปีนี้ราคาน้ำมันดิบจะยังทรงๆตัวในระดับราว 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ก็จะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันโดยรวมเพิ่มขึ้น โดยในประเทศพบว่าความต้องการใช้น้ำมันในเดือน ม.ค.59 ทรงตัวจากเดือนธ.ค.58 ขณะที่ปกติการใช้น้ำมันในเดือน ม.ค.จะลดลง 5-10% เมื่อเทียบเดือนธ.ค.ที่มีการใช้น้ำมันค่อนข้างมากจากเดินทางท่องเที่ยว
ในส่วนของ BCP พบว่าการใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เติบโตมาก ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกันกับอุตสาหกรรม จนทำให้ผู้ประกอบการต้องนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐาน (G-BASE) จากปกติที่น้ำมันเบนซินพื้นฐานมีเพียงพอกับการใช้ในประเทศ ซึ่งในส่วนของบริษัทก็มีการนำเข้าด้วยเช่นกัน เนื่องจากสามารถผลิตน้ำมันเบนซินได้เพียง 13-14% ของกำลังการกลั่นน้ำมัน โดยหากทิศทางการเติบโตยังเป็นเช่นนี้ก็เชื่อว่าไทยจะต้องนำเข้าน้ำมันเบนซินพื้นฐานราว 8-9 พันล้านบาท/ปี ซึ่งในเร็วๆนี้บริษัทเตรียมที่จะออกแคมเปญการรณรงค์เพื่อให้เกิดการใช้น้ำมันอย่างรู้คุณค่าด้วย
ด้านนายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจการตลาด ของ BCP กล่าวว่า ความต้องการใช้น้ำมันของประเทศในปีที่ผ่านมาเติบโตราว 6% โดยเป็นการเติบโตมากในกลุ่มน้ำมันเบนซินที่เติบโตถึง 14% ส่วนดีเซลเติบโตเพียง 7-8% บ่งบอกถึงการใช้น้ำมันอย่างฟุ่มเฟือย เนื่องจากมีราคาถูก และคาดว่าการเติบโตของการใช้น้ำมันนปีนี้จะยังอยู่ในทิศทางเดียวกันด้วย โดยการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินยังเพิ่มขึ้นจากการที่กลุ่มผู้ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) หันมาใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินมากขึ้น
"การใช้น้ำมันเบนซินเติบโตเป็นตัวเลข 2 digit ไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อน บ่งบอกถึงการสิ้นเปลือง แต่น้ำมันเบนซินคงไม่ขาดตลาดเพราะยังนำเข้าได้ และอุปทานน้ำมันในตลาดโลกยังมีอยู่มาก"นายพงษ์ชัย กล่าว
นายพงษ์ชัย กล่าวว่า การใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เติบโตอย่างมาก การใช้แก๊สโซฮอล์ 91 และ E20 ก็ยังมีอัตราการเติบโต แต่ในส่วนของ E85 กลับพบว่าการใช้หดตัวลง จากที่บริษัทเคยขายน้ำมัน E85 ได้สูงสุดระดับ 17 ล้านลิตร/เดือน ในช่วงเดือนพ.ย.57 แต่ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาการขายอยู่ในระดับเพียง 12-13 ล้านลิตร/เดือนเท่านั้น แต่บริษัทก็จะยังเดินหน้าผลักดันการใช้พลังงานทดแทนดังกล่าวอยู่ต่อเพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนของประเทศ