IEC มั่นใจผถห.ใช้สิทธิจอง RO ครบ,วางงบ 663 ลบ.ขยายกำลังผลิตเม็ดพลาสติก

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday January 29, 2016 16:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายภูษณ ปรีย์มาโนช ประธานกรรมการ บมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง (IEC) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่าผู้ถือหุ้นจะใช้สิทธิการจองหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วน (RO) 2.26 หมื่นล้านหุ้น ในอัตราส่วน 8 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นเพิ่มทุน ในราคาหุ้นละ 0.022 บาท/หุ้น ซึ่งจากการเดินสายโรดโชว์เพื่อสอบถามความสนใจนั้น ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่มีความสนใจใช้สิทธิการจองหุ้น RO เป็นจำนวนมาก และมีผู้ถือหุ้นบางรายให้ความสนใจจะใช้สิทธิมากกว่าอัตราที่กำหนด ขณะที่บริษัทกำหนดจองซื้อและชำระเงินในวันที่ 1-5 ก.พ. โดยคาดว่าจะได้รับเงินระดมทุน 498 ล้านบาท ไว้ใช้สำหรับการลงทุนในโรงงานผลิตเม็ดพลาสติก

สำหรับความคืบหน้าของโครงการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล ใน จ.ระยองนั้น บริษัทได้ใช้เงินลงทุน 663 ล้านบาท เพื่อติดตั้งเครื่องจักรจำนวน 16 สายการผลิต ซึ่งเมื่อติดตั้งเสร็จแล้วจะสามารถผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้ถึง 300 ตัน/วัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการแล้วเสร็จในไตรมาส 2/59 โดยปัจจุบันบริษัทสามารถติดตั้งครบ 6 สายการผลิตแล้ว สามารถผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้ 100 ตัน/วัน

ขณะที่ล่าสุด บริษัทได้รับความเชื่อมั่นในการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล โดยได้เซ็นสัญญากับผู้ซื้อเม็ดพลาสติกรีไซเคิลอย่างเป็นทางการกับผู้ประกอบการผลิตพลาสติก 8 บริษัททั้งในและต่างประเทศ โดยบริษัทในประเทศไทย ได้แก่ CMT Polymer, เดก้า คัลเลอร์โปร, แสงรุ่งเรือง, KP holding, Mega Polymer บริษัทจากประเทศจีน ได้แก่ บริษัท Lianda (Zhajiagang, China), Guorui Plastic (Gvangzho, China) และบริษัทจากประเทศมาเลเซีย ได้แก่ บริษัท Asarama (Klang, Malaysia) ทั้งนี้ จากการเซ็นสัญญากับ 8 บริษัททำให้บริษัทมีออเดออร์เข้ามาแล้ว 6,300 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่างานในมือ (Backlog) มูลค่า 94.5 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เม็ดพลาสติกรีไซเคิล ของบริษัทขณะนี้ได้รับความสนใจจากบริษัททั้งในและต่างประเทศ โดยบริษัทภายในประเทศมีความต้องการเม็ดพลาสติกรีไซเคิล รวมประมาณ 1,150 ตัน/วัน ซึ่งหนึ่งในบริษัทที่ให้ความสนใจและมีความต้องการเม็ดพลาสติกรีไซเคิลมากที่สุด คือ บริษัท CMT Polymer โดยมีความต้องการเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสูงถึง 400-500 ตัน/เดือน ส่วนบริษัทในต่างประเทศที่ใหัความสนใจมีความต้องการเม็ดพลาสติกรีไซเคิลรวมกันประมาณ 2,500 ตัน/เดือน ซึ่งหนึ่งในบริษัทที่ให้ความสนใจและทำการตกลงทำสัญญาซื้อขายเม็ดพลาสติกรีไซเคิล คือ บริษัท Asarama ประเทศมาเลเซีย โดยบริษัทดังกล่าวมีความต้องการเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสูงสุดถึง 2,000 ตัน/เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ