ทั้งนี้ ผู้ประกอบการแต่ละรายมีความสามารถแตกต่างกันไป รวมทั้งสายป่านยาวสั้นไม่เหมือนกัน เท่าที่สังเกตุเห็นจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกที่เป็นรายเดิมที่ประกอบธุรกิจอยู่แล้ว มี 6 ช่อง คือ ช่อง 3 (มี 3 ช่อง), ช่อง 7, ช่อง 9 (มี 2 ช่อง) กลุ่มนี้ยังพอมีกำไรอยู่ แต่กำไรลดลงเพราะถูกชิงส่วนแบ่งจากรายใหม่ที่เข้ามา
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่เคยเป็นผู้ผลิตคอนเท้นท์รายใหญ่ สามารถยึดครองส่วนแบ่งตลาดในทีวิดิจิตอลได้ มีประมาณ 5-7 ช่อง ได้แก่ บมจ.เวิร์คพ้อยท์ เอ็นเทอร์เมนท์ (WORK) บมจ.อาร์เอส (RS) บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) ทรูวิชั่นส์ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้คาดว่าจะเริ่มทำกำไรได้ภายในปีนี้
กลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่เป็นรายใหญ่เฉพาะทาง ส่วนใหญ่เคยเป็นผู้ผลิตรายการข่าวมาก่อน ได้แก่ เนชั่นทีวี สปริงนิวส์ วอยซ์ทีวี และไบรท์ทีวี ซึ่งกลุ่มนี้ถือว่าลำบากที่สุด เพราะก่อนเข้ามาประมูลมีประสบการณ์เพียงรายการข่าวเท่านั้น
ส่วนกลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มทุนธุรกิจที่มีสายป่านยาว และบางรายก็เคยทำคอนเท้นน์มาก่อน ได้แก่ ไทยรัฐทีวี, นิวทีวี, อัมรินทร์ทีวี และ พีพีทีวี เป็นต้น
"กลุ่มช่องเดิมถูกแบ่ง Market Share ออกไป ถ้าต้องการได้กลับมาเหมือนเดิมก็ต้องเพิ่มช่องเข้ามาอย่างช่อง 3 ทีมี ช่อง 3SD ช่อง 3 Family ช่อง 3 HD ส่วนช่อง 9 (MCOT) ได้ใหม่อีก 1 ช่อง (ช่องเด็ก) แต่ช่อง 7 เพิ่มช่องใหม่ไม่ได้ เค้กก็จะเล็กลง"พ.อ.นที กล่าว
พ.อ.นที กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจทีวีดิจิตอลเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ อย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส หรือ ไต้หวัน ก็เหลือ 7-8 ช่อง ซึ่งการที่ กสทช.เปิดประมูล 24 ช่องเป็นการเปิดโอกาสให้กับทุกราย แต่จากการกำหนดเวลาประมูลไว้ที่ 1 ชั่วโมง ทำให้ไม่ได้แข่งขันกันรุนแรงเหมือนการประมูลคลื่นความถี่โทรคมนาคม
"ปัญหาทีวีดิจิตอลเป็นเพราะมีซัพพลายมากถึง 4 เท่าตัว การเกิดมามากทำให้ช็อคตลาด แต่สุดท้ายระบบการแข่งขันจะคัดไปเอง ทุกคนลองผิดลองถูก แต่ละช่องก็พยายามหาสไตล์ของตัวเอง อาทิ ไทยรัฐทีวี นำการถ่ายทอดฟุตบอลไทย , แกรมมี่ หันไปจับกลุ่มวัยรุ่น เป็นต้น ซึ่งพยายามจับ nich Market"พ.อ.นที กล่าว
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัว เพราะมีต้นทุนค่าใบอนุญาต การลงทุนคอนเท้นท์ เป็นภาระแต่ละช่อง โดยจะรอดูว่ามีรายใดที่ไม่สามารถจ่านเงินค่าใบอนุญาตงวดที่ 3 ที่จะถึงกำหนดในเดือน พ.ค.59 นี้บ้าง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หากผู้ประกอบการรายใดต้องการคืนใบอนุญาตก็ต้องยึดแบงก์การันตีตามหลักเกณฑ์ และยืนยันว่าภายใน 1 ปีจะยังไม่มีการเปิดประมูลรอบใหม่
ด้านนายศิวะพร ชมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท(MCOT) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทยังไม่ตัดสินใจจะคืนใบอนุญาตทีวีดิจิตอลช่องเด็ก โดยจะขอรอดูข้อเสนอการแก้ไขปัญหาของ กสทช.ก่อน
ทั้งนี้ กสทช. ได้จัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาทีวีดิจิตอล ซึ่งได้ประชุมมา 3 ครั้งแล้ว ได้สรุปปัญหา 10 ข้อเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ กสทช. เพื่อพิจารณาหาทางแก้ไขต่อไป โดยแนวทางแก้ไขปัญหา 10 ข้อได้แก่ แนวทางการคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอล, การขยายเวลาหรือเลื่อนจ่ายเงินค่าประมูล งวดที่ 3 ออกไปก่อน , การแจกคูปองเพิ่มเติมเป็น 22 ล้านครัวเรือน , การขยายอายุใบอนุญาต, การจัดลำดับการเรียงเลขช่องเหมือนกันทุกแพลตฟอร์ม, การจัดเก็บเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ต่ำกว่า 2% , การจัดทำระบบวัดเรทติ้งทีวี, ทำการประชาสัมพันธ์รับชมทีวีดิจิตอล , พักใช้ใบอนุญาตหรือเลิกประกอบกิจการ และ เยียวยาผู้ประกอบกิจการ