ตลท. อยู่ระหว่างหารือก.ล.ต.เพิ่มหลักเกณฑ์ธรรมาภิบาลให้เป็นสากล

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 8, 2016 14:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท. อยู่ระหว่างหารือร่วมกับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อพิจารณาเพิ่มหลักธรรมาภิบาล (CORPORATE GOVERNANCE) จากเดิมมีอยู่ 5 ข้อ เป็น 8 ข้อ ซึ่งจะอยู่ในหมวดสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับบริษัทจดทะเบียนให้เป็นสากล และให้สอดคล้องกับกรอบที่ยั่งยืน Sustainable Development Goals (SDGs) 17 เป้าหมายของสหประชาชาติที่ประกาศให้เป็นวาระแห่งการพัฒนาในระดับโลกในช่วงปี 2558-2573

ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวคาดว่าจะเริ่มใช้จริงได้ใน 2 ปีข้างหน้า ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการเจรจากับตัวแทนสมาคมบริษัทจดทะเบียน ซึ่งมีทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดเล็กว่าสามารถยอมรับหลักเกณฑ์ได้หรือไม่

"เราเป็นตลาดหลักทรัพย์ฯที่มุ้งเน้นการพัฒนาตลาดทุนในเชิงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้ก็จะมีการปรับปรุงให้หลักเกณฑ์ธรรมาภิบาลมีความเป็นสากลมากขึ้น จากเดิมมีอยู่ 5 ข้อ จะเพิ่มเป็น 8 ข้อ โดยจะเพิ่มในส่วนของสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราจะมีการทำงานร่วมกับก.ล.ต.เพื่อผลักดันหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ใช้งานได้จริงใน 2 ปีข้างหน้า และน่าจะใช้ชื่อเรียกว่า Integrated Governance Code (IG Code)"

อนึ่ง หลักธรรมาภิบาล 5 ข้อ ประกอบด้วยหมวดที่ 1 สิทธิของผู้ถือหุ้น - ผู้ถือหุ้นมีสิทธิในความเป็นเจ้าของโดยควบคุมบริษัทผ่านการแต่งตั้งคณะกรรมการให้ทำหน้าที่แทนตนและมีสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของบริษัท บริษัทจึงควรส่งเสริมให้ผู้ถือหุ้นได้ใช้สิทธิของตน

หมวดที่ 2 การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน - ผู้ถือหุ้นทุกราย ทั้งผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้บริหารและผู้ถือหุ้นที่ไม่เป็นผู้บริหาร รวมทั้งผู้ถือหุ้นต่างชาติ ควรได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันและเป็นธรรม ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยที่ถูกละเมิดสิทธิควรมีโอกาสได้รับการชดเชย

หมวดที่ 3 บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย - ผู้มีส่วนได้เสียควรได้รับการดูแลจากบริษัทตามสิทธิที่มีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการควรพิจารณาให้มีกระบวนการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้เสียในการสร้างความมั่งคั่ง ความมั่นคงทางการเงินและความยั่งยืนของกิจการ

หมวดที่ 4 การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส - คณะกรรมการควรดูแลให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทั้งข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงินอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ทันเวลา โปร่งใส ผ่านช่องทางที่เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย มีความเท่าเทียมกันและน่าเชื่อถือ

หมวดที่ 5 ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ - คณะกรรมการมีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลกิจการเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัท คณะกรรมการมีความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้ถือหุ้นและเป็นอิสระจากฝ่ายจัดการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ