สมาคมฯ มองว่าดัชนีตลาดหุ้น (SET Index) ณ สิ้นปี 59 จะอยู่ที่เฉลี่ย 1,442 จุด เทียบกับดัชนีล่าสุดอยู่ที่ระดับ 1,300 จุด (มีโอกาสขึ้นได้อีก 10.9%) และจะมีระดับสูงสุดของปีอยู่ที่เฉลี่ย 1,501 จุด ในขณะที่จุดต่ำสุดของปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 1,163 จุด
นางภรณี ทองเย็น อุปนายก IAA ระบุว่า นักวิเคราะห์หลักทรัพย์และผู้ลงทุนสถาบันส่วนใหญ่มีความเห็นต่อแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในปี 59 ตรงกันว่าอยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยมีสัดส่วนรวมกันถึง 78.57% ของผู้ตอบทั้งหมด ซึ่งแบ่งได้เป็นทยอยขึ้น (Sideway Up) 60.71%, ลงก่อนขึ้นในครึ่งปีหลัง 14.29% และขึ้นชัดเจนอีก 3.57% สำหรับผู้ที่มองว่าตลาดหุ้นมีทิศทางขาลงโดยเป็น Sideway Down และ ทรงตัว คิดเป็นสัดส่วน 17.86% และ 3.57% ตามลำดับ
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อตลาด พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 96.4% เห็นตรงกันว่าเหตุผลสนับสนุนสำคัญที่เป็นปัจจัยบวกมาจากปัจจัยภายในประเทศคือ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ รองลงมาคือ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทย เช่น การลงทุนภาคเอกชน อัตราการบริโภค ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อและการส่งออก เป็นต้น 71.4% ของผู้ตอบ ส่วนปัจจัยต่างประเทศ ให้น้ำหนักมากเป็นอันดับสาม 53.6% คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรปและปัญหาด้านหนี้สาธารณะของสมาชิกบางประเทศ เช่น กรีซ
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์และผู้ลงทุนสถาบันประเมินว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ของไทยในปี 59 จะอยู่ที่เฉลี่ย 3.3% ซึ่งต่ำกว่าคาดการณ์เดิมที่ 3.8% คาดการณ์สัดส่วนราคาหุ้นต่อกำไร (Forward P/E) ปี 59 ที่เฉลี่ย 15.3 เท่า ขณะที่กำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 92.0 บาท (ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 109.5 บาท) และมีอัตราการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ที่เฉลี่ย 19.1% สูงกว่าคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 13.0%
หากพิจารณากำไรรายกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่ากลุ่มธุรกิจที่มี EPS Growth เติบโตสูงสุดในปี 59 คือ กลุ่มพลังงาน (105.9%) รองลงมาคือกลุ่มปิโตรเคมี (22.4%) (สำหรับปี 58 คือ กลุ่มปิโตรเคมี 85.01% และรองลงมาคือกลุ่มวัสดุก่อสร้าง 31.37%)
นักวิเคราะห์และผู้ลงทุนสถาบันยังมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันเกี่ยวกับแนวโน้มราคาน้ำมันในปีนี้ โดย 42.3% มองว่าแนวโน้มยังอยู่ในขาลง แบ่งเป็น Sideway Down 26.9% และลงชัดเจน 15.4% ในขณะที่ 19.2% มองว่าตลาดน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัว และอีก 30.8% คาดว่าราคาน้ำมันน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มขึ้นมากกว่าลง โดยแบ่งเป็น Sideway Up 23.1% และจะขึ้นในครึ่งปีหลัง 7.7% อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามอีก 7.7% ตอบว่ายังไม่สามารถคาดการณ์ได้
เหตุผลสนับสนุนที่สำคัญคือ ความขัดแย้งในตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันขนาดใหญ่ของโลก (มีผู้ตอบ 66.7%) เหตุผลที่สำคัญรองลงมาคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรปและปัญหาด้านหนี้สาธารณะของสมาชิกบางประเทศ เช่น กรีซ ในขณะที่คำตอบเกี่ยวกับปัจจัยลบยังไม่มีปัจจัยใดที่เด่นชัด ทั้งนี้ ผู้ตอบมีสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบ Brent ของปี 59 ที่เฉลี่ย 41.1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อน (อยู่ที่ 70.1 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) มากถึง 29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือคิดเป็น 41%
ด้านนายรัชกฤษณ์พงศ์ เอกรังสรรค์ เลขาธิการและกรรมการผู้อำนวยการ IAA กล่าวว่า แนวโน้มของตลาดตราสารหนี้ไทยในปีนี้ผู้ตอบแบบสอบถาม 47.6% มองว่าเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) มีแนวโน้มขาขึ้น ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามที่เหลือ 23.8% เท่ากัน เห็นว่าตลาดตราสารหนี้มีแนวโน้มทรงตัว และ Sideway Down โดยมีปัจจัยสนับสนุนด้านบวกที่สำคัญคือ ปัจจัยทางการเมืองไทย มีผู้ตอบ 50% และปัจจัยต่างประเทศมีความสำคัญรองลงมา คือ ปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risks) 43.8% และ Fund Flows โดยเฉพาะเกี่ยวกับตลาดทุนไทย 33.3%
ปัจจัยลบสำคัญเป็นปัจจัยทางต่างประเทศส่วนใหญ่ คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ เช่น Unemployment, อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP Growth), Fed Funds Rate 81% Fund Flows ทวีปเอเชียตอนเหนือ และ Fund Flows สู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีผู้ตอบเท่ากันที่ 42.1% และ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรปและปัญหาด้านหนี้สาธารณะของสมาชิกบางประเทศ เช่น กรีซ มีผู้ตอบ 36.8%
อนึ่ง ผู้ตอบแบบสอบถามประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย (RP 1 วัน) ณ สิ้นปี 59 จะอยู่ระหว่าง 1.4-2% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ครั้งก่อน (ระหว่าง 1.25 – 2.25%)
ด้านแนวโน้มราคาในปีนี้ทองคำนักวิเคราะห์และผู้ลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ยังให้ภาพที่มีความขัดแย้งกัน โดย 41.67% มองว่าตลาดทองคำยังมีแนวโน้มอยู่ในขาลง (แบ่งเป็น Sideway Down 37.5% และลงชัดเจน 4.17%) ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามอีก 37.5% เห็นว่าตลาดอยู่ในภาวะทรงตัว ในขณะที่อีก 20.84% มองว่ามีแนวโน้มปรับตัวขึ้น (แบ่งเป็น Sideway Up 16.7% และ ขึ้นชัดเจน 4.17%)
ณ สิ้นปี 59 คาดว่าราคาทองคำจะอยู่ที่เฉลี่ย 18,729 บาทต่อบาททองคำ ต่ำกว่าคาดการณ์ครั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือน พ.ค.58 อยู่ 8% (คาดการณ์เดิมอยู่ที่ 20,454 บาทต่อบาททองคำ) โดยมีปัจจัยที่คาดว่าจะมีอิทธิพลทางบวกต่อราคาทองคำมากที่สุด คือ ความขัดแย้งในตะวันออกกลางและคาบสมุทรเกาหลี ในขณะที่ปัจจัยที่มีอิทธิพลด้านลบมากที่สุด คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐ เช่น Unemployment, อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP Growth), Fed Funds Rate เป็นต้น
นักวิเคราะห์และผู้ลงทุนสถาบันได้แนะนำให้ลดการลงทุนในหุ้นเล็กน้อยเป็น 35.8% ของเงินลงทุนรวม จาก 42.5% ในการสำรวจครั้งก่อนหน้า โดยแนะนำให้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศเป็น 22.5% จากเดิม 19.8% ตราสารหนี้และกองทุนในตราสารหนี้ เป็น 19.4% จากเดิม 17.6% ทองคำรวมถึงโกลด์ฟิวเจอร์ส 7.5% จาก 6.7% และลงทุนในทางเลือกอื่นๆ ได้แก่ กองทุนอสังหาริมทรัพย์, REITs, กองทุน Infrastructure 4.5% จากที่แนะนำครั้งก่อน 1.6% ในขณะที่แนะนำให้ลดการถือเงินสดรวมถึงเงินฝากลงเป็น 10.4% (จาก 11.8% ครั้งก่อน)