ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/59 จะมีลูกค้าของธนาคารออกหุ้นกู้ 1 ราย มูลค่า 5-6 พันล้านบาท เป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบริโภค และมีวัตถุประสงค์ในการออกหุ้นเพื่อใช้เงินุนในการขยายธุรกิจ ขณะที่ธนาคารมีลูกค้าที่อยู่ระหว่างการเจรจาออกหุ้นกู้อีก 4-5 ราย
"มูลค่าหุ้นกู้เอกชนปีนี้ลดลง 5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นการออกหุ้นกู้เพื่อรีไฟแนนซ์ และครบกำหนดเท่านั้น และมูลค่าหุ้นกู้เอกชนของตลาดปีนี้ได้รวมการลงทุน 4G ไปแล้ว ซึ่งยังไม่รวมดีล BIGC เนื่องจากโดยปกติจะเป็นการใช้สินเชื่อไปก่อน หากไม่เพียงพอและอาจหาเครื่องมือใหม่ เช่น การออกหุ้นกู้ เป็นต้น"นายธิติ กล่าว
KBANK ประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) สิ้นปีนี้ไว้ที่ 1,450 จุด โดยมีปัจจัยหนุนจากการเลือกตั้งในปี 60 ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จริงก็จะเป็นการเรียกความเชื่อมั่นให้ภาคเอกชนกลับมาลงทุน หลังจากที่ผ่านมาเป็นการลงทุนจากรัฐบาลเป็นหลัก ด้านอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้ประเมินว่าจะขยายตัว 3% อย่างไรก็ตาม ในเดือน มิ.ย.จะมีการทบทวนประมาณการดังกล่าวอีกครั้ง หากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาลยังไม่ส่งผลเต็มที่
ด้านค่าเงินบาทสิ้นปี 59 ประเมินไว้ที่ 38 บาท/ดอลลาร์ จากปัจจุบันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 35.50-36.00 บาท/ดอลลาร์ โดยคาดว่าแนวโน้มค่าเงินบาททั้งปีนี้จะยังคงอ่อนค่า เนื่องจากปัจจัยทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในปีนี้ ซึ่งส่งผลให้กระแสเงินทุนไหลกลับไปยังสหรัฐ ประกอบกับ เศรษฐกิจจีนชะลอตัวส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคนี้อ่อนค่าลงต่อเนื่อง
นายธิติ กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ คือ ในช่วงเดือน มิ.ย.และเดือน พ.ย. โดยในการประชุมเดือน มี.ค.นี้มองว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับเดิมไปก่อน เนื่องจาก 1 ใน 2 ปัจจัยที่เฟดกังวล คือ อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่ยังไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ในระดับ 2% โดยปัจจุบันอยู่ที่ 1.3-1.4% ขณะที่ตัวเลขการว่างงานถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อปีเช่นเดิมในปีนี้