"อสมท เป็นองค์กรที่ยิ่งใหญ่ และมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน แต่นั่นก็หมายความว่าเราอยู่ใน Comfort Zone มานานเช่นกัน เคยมีรายได้จากสัมปทาน ทั้งจากช่อง 3 และทรูวิชั่นส์ แต่อีกไม่นานรายได้เหล่านี้จะหมดไป ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องกลายเป็นผู้จ่ายค่าสัมปทานให้ กสทช.อีกด้วย ทั้งในส่วนของค่า License ทีวีดิจิทัล และการจัดสรรค์คลื่นวิทยุที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า สมัยก่อนเงินไหลเข้าง่ายมากแต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แล้ว เราต้องเดินออกมาจากจุดที่เคยเป็น ก้าวออกจาก Comfort Zone สู่ Challenge Zone ถามว่าวันนี้ผมมองเห็นอะไร ปัญหา? อุปสรรค? ไม่ใช่เลย ผมมองเห็นความท้าทาย มองเห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ขององค์กรยักษ์หลับแห่งนี้ เห็นโอกาสที่จะนำ อสมท กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง"นายศิวะพร กล่าว
ขณะเดียวกัน ก็มองเห็นทั้งจุดแข็งของ อสมท รวมถึงสิ่งที่เราขาดไป เห็นทิศทางที่สามารถพัฒนาไปได้ เห็นจุดที่ต้องไปให้ถึง และในปีที่ผ่านมาจัดกิจกรรม“ปลุก เปลี่ยน สร้าง"เพื่อให้พนักงานทุกคนเห็นทิศทางที่องค์กรจะมุ่งไปร่วมกัน เปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างค่านิยมที่เหมาะสมในการทำงานทั้งเชิงรับและเชิงรุก ในเชิงรับก็เริ่มต้นได้จากสิ่งง่ายๆ เช่น การช่วยกันประหยัดพลังงาน เพื่อเพิ่มกำไรให้มากขึ้น ซึ่งทำให้ปี 2558 ลดรายจ่ายจากค่าไฟฟ้าได้กว่า 6 ล้านบาท ก็สามารถนำมา Invest ต่อได้
นายศิวะพร กล่าวอีกว่า ในส่วนของเชิงรุกยังต้องการให้ Product ของ อสมท มีความแตกต่าง ซึ่งจะเน้นในเรื่องความสร้างสรรค์ของรายการ ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ รวมถึง Product อื่นๆ ที่มี จะใช้ตรงนี้เป็น Baseline คือทำงานด้วยความคิดสร้างสรรค์ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ปรับวิสัยทัศน์ของ อสมท ในปี 59 คือการเป็น “Highly Creative Media Company" หรือการเป็น“องค์กรสื่อสร้างสรรค์ชั้นนำ" ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์รายการทั้งสาระและบันเทิงที่มีคุณภาพตามแนวคิด“สร้างสรรค์สังคมอุดมปัญญา"ให้ผู้ชม ซึ่งตั้งงบประมาณการลงทุนราว 2,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนในส่วนของการผลิตคอนเทนต์ราว 700-800 ล้านบาท โดยเน้นไปที่การผลิตคอนเทนต์บันเทิงประเภท เกมโชว์ และข่าวสารคดี ซึ่งตั้งเป้าว่าในสิ้นปี 59 อสมท จะมีสัดส่วนของรายการบันเทิงอยู่ที่ 65%
นอกจากนี้ การจะไปให้ถึงวิสัยทัศน์ดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องมีทีมผู้บริหารที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีแนวคิดและไอเดียใหม่ๆ และมีความเจนจัดในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านธุรกิจโทรทัศน์ ด้านการตลาดและสื่อ ด้านวิศวกรรมโครงข่ายและเทคโนโลยี ฯลฯ ที่สำคัญคือต้องมีความ Active จึงสรรหาผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำของภาคเอกชน ที่มีความสามารถ และคุณสมบัติดังกล่าวมาดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เพื่อร่วมกันนำองค์กรให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่ตั้งไว้
แม่ทัพใหม่ของ อสมท ประกอบด้วย นายเสฏฐวุฒิ จันทร์วาววาม รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานการผลิตเนื้อหาและรายการ, นายวิโรจน์ ตรับวงศ์วิทยา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและสนับสนุนเชิงเทคนิค และนายสุนทร อารีรักษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานการบริหารการตลาดและสื่อ
นายเสฏฐวุฒิ จันทร์วาววาม รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานการผลิตเนื้อหาและรายการ มองว่า การขับเคลื่อน อสมท ไปข้างหน้าต้องเริ่มจากการพัฒนาจุดแข็ง ให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Highly Creative Media Company ด้วยการเสริมจุดแข็งคือ ข่าวสำนักข่าวไทย จะพัฒนาข่าวให้มีความเป็น Exclusive Content เป็นซีรี่ย์ เจาะลึกเนื้อหาในทุกแง่มุม พร้อมนำเสนอข้อมูลเชิงลึกจาก Exclusive Source ด้วยการสัมภาษณ์แหล่งข่าวพิเศษในแต่ละสถานการณ์
"จะเพิ่มมูลค่าให้รายการของ MCOT ด้วยการดีไซน์คอนเทนต์ของ MCOT ให้มีลักษณะสอดคล้องกับการทำ Cross Media มากขึ้น ด้วยการใช้ประโยชน์จากจุดเด่นของแต่ละ content เพื่อนำมาใช้กับแต่ละช่องทางสื่ออย่างเหมาะสม ที่มองอย่างนี้ เพราะ MCOT มีสื่อ ทั้งโทรทัศน์ และวิทยุ ซึ่งมีแบรนด์ที่เข้มแข็งอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังเป็นผู้นำด้านสื่อออนไลน์ทั้งในส่วนของเนื้อหาด้านข่าวและบันเทิง ในส่วนรายการ มีกระบวนการผลิตรายการที่มีมาตรฐานระดับโลก มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญมีประสบการณ์ในแต่ละแขนง ก็ควรนำจุดแข็งเหล่านี้มาหลอมรวมกัน เพื่อสร้างเป็นเนื้อหารายการ (content) ที่โดดเด่น""นายเสฏฐวุฒิ กล่าว
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมามี Big Project คือการประกวด The Creator ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักคิดรุ่นใหม่ส่งไอเดียผลงานในรูปแบบ Proposal รายการ ทั้งรายการเกมส์โชว์ ละคร สารคดี เรียลลิตี้ และรายการเด็ก เข้าประกวด โดยได้ผู้ชนะในแต่ละประเภทรายการแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก็เลยจะสานต่อโครงการนี้ด้วยการนำ Proposal รายการที่น่าสนใจ มีเนื้อหาที่เหมาะสมกับตลาดรายการไทยรวมถึงสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมในอาเซียนได้ และมีศักยภาพในการช่วงชิงเม็ดเงินในตลาดโฆษณา เพื่อมาพัฒนาต่อยอดร่วมกับเจ้าของผลงาน ซึ่งจะทำให้ได้รายการที่มีคุณภาพหลากหลายประเภท เพื่อมาเสริมผังรายการของ อสมท ด้วย
พร้อมกันนี้ จะจับมือกับพันธมิตรกีฬาทั้งในและต่างประเทศ ในเบื้องต้น focus ไปที่ทีมฟุตบอลชั้นนำในไทยพรีเมียร์ลีก โดยจะเจรจาขอเป็นพันธมิตรในการพัฒนากีฬาร่วมกัน โดยมีโครงการร่วมกันหลากหลายด้านในปีนี้
"จะใช้จุดแข็งจากการเป็นผู้นำด้านข่าวบันเทิงของไนน์เอ็นเตอร์เทนเป็นใบเบิกทางสู่การเป็น Event Management Agency จัดกิจกรรมบันเทิงแบบครบวงจรให้กับลูกค้า นอกจากนี้ ยังมองเห็นโอกาสในการเป็นผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการช่องรายการ เพราะขณะนี้มีหลายหน่วยงานที่ต้องการจะทำช่องรายการของตนเอง แต่ไม่มี know-how ซึ่งในจุดนี้ สามารถเข้าไปสนับสนุนได้ ถ้ามองในตลาดรายการโทรทัศน์ของ ASEAN แล้ว ประเทศไทยถือว่าอยู่ในระดับ Top Ranking จะใช้ข้อได้เปรียบตรงนี้กรุยทางสู่การเป็น ASEAN Entertainment Center นำเนื้อหาเกี่ยวกับด้านดนตรี ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวมาผลิตเป็นรายการออกอากาศ และจัด Big Event ในระดับ ASEAN เช่น การจัดคอนเสิร์ตรวมศิลปิน ASEAN"นายเสฏฐวุฒิกล่าว
นายสุนทร อารีรักษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานการบริหารการตลาดและสื่อ กล่าวว่า จะ build branding ของ ช่อง 9 MCOT HD ให้แข็งแรงขึ้น ด้วยการสร้าง Programming Block ที่ชัดเจน โดยศึกษาจากประเภทรายการที่เคยสร้างชื่อเสียงให้กับเรา จะมีตั้งแต่ Game Show, Sit Com, Reality Show และ Factual Entertainment พร้อมใส่ความเป็น entertainment ที่มีคุณภาพตามคอนเซปต์ สังคมอุดมปัญญา
ในไตรมาสแรกนี้ อสมท จะเปิดตัว 3 รายการใหม่ในช่อง 9 MCOT HD ประกอบด้วย รายการ “เลขท้ารวย ID Lucky number"ออกอากาศทุกวันจันทร์ เวลา 20.10 - 21.00 น. เริ่มวันที่ 15 กุมภาพันธ์, ละครซิทคอมเรื่อง“ฟิตเนส สะเด็ดยาด"ทุกวันเสาร์ เวลา 17.00 -18.00 น. เริ่มวันเสาร์ที่ 5 มีนาคม นี้ และซีรีส์ที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มแฟนรายการที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น เรื่อง “Part Time วัยกล้าฝัน"ทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 20.50 - 21.45 น. เริ่มวันที่ 12 มีนาคม นี้
ด้าน MCOT Family ช่อง 14 ช่องรายการสำหรับเด็กและครอบครัวนั้น เน้นความแข็งแรงด้าน Animation พร้อมเพิ่ม content ด้าน edutainment และรายการเกี่ยวกับแม่และเด็ก เสริมด้วยการจัดกิจกรรมสานสายใยครอบครัว ส่วนช่อง MCOT 1 จะเป็นช่องภูมิภาค ตามแนวคิด “สีสันภูมิภาค" นำเสนอรายการเกี่ยวกับเทศกาล และวัฒนธรรมต่างๆ ของท้องถิ่น ข่าวในภูมิภาค และกีฬาดังต่างๆในแต่ละท้องถิ่น และอาจพัฒนารายการให้สามารถนำไปขายในต่างประเทศได้ พร้อมเปิดพื้นที่เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน
พร้อมเสริมความสัมพันธ์กับผู้ฟังให้แน่นแฟ้นด้วยการจัดกิจกรรมร่วมกับกลุ่มแฟนคลับของแต่ละคลื่น เช่น การจัดทัวร์ สัมมนา หรือ meet &กรี้ด ส่วนวิทยุภูมิภาคจะเปิดเป็นพื้นที่ให้ชุมชน serve ความต้องการของชุมชน และลูกค้าในภูมิภาคเป็นหลัก
"จะเพิ่มรายได้บน digital platform ด้วยการขาย digital content และ online service โดยเราจะนำ content ที่เรามีมา plan และผลิตแบบ multi-screen ให้มีลักษณะที่เหมาะสมกับแต่ละ platform เพื่อสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบัน" นายสุนทรกล่าว
นายวิโรจน์ ตรับวงศ์วิทยา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและสนับสนุนเชิงเทคนิค กล่าวว่า วิศวกรรม Broadcast Network เป็นเหมือน backbone ที่รองรับการทำงานในทุกๆ ส่วน ซึ่งในส่วนนี้ อสมท มีความพร้อมกว่าผู้ให้บริการรายอื่นๆ เพราะมีศูนย์วิศวกรรมอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ หากเกิดปัญหาสามารถเข้าไปแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและทันเวลา ส่วนการขยายโครงข่าย อสมท เองมีศักยภาพที่น่าจะสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าที่ กสทช กำหนด
"จะรวบรวม platform และข้อมูลที่มีอยู่เพื่อสร้างคลัง Digital Content และ Data Archiving System เพื่อลด Cost และง่ายต่อการบริหารจัดการ ควบคู่กับการจัดการด้านลิขสิทธิ์ของ Content ที่มีอยู่บน Platform ต่างๆ เพื่อเพิ่มช่องทางการหารายได้ โดยในส่วนของ Data Archive System นั้นคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2561"นายวิโรจน์กล่าว