นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) คาดว่ารายได้รวมปีนี้จะเพิ่มขึ้นจากปี 58 โดยมีแผนปรับขึ้นราคาขายที่ดินให้สอดคล้องกับราคาประเมินที่ดินใหม่ของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นมาก ขณะที่มองตลาดนิคมอุตสาหกรรมในปีนี้จะเติบโตได้ดีขึ้น ตอบรับมาตรการภาครัฐเร่งรัดการลงทุน และภาวะการเมืองที่นิ่งจะช่วยผลักดันให้ยอดขายที่ดินรวมของกลุ่ม AMATA เพิ่มขึ้น 20% จากกว่า 800 ไร่ในปีก่อน พร้อมมั่นใจรับมือภัยแล้งปีนี้ได้หลังตุนปริมาณน้ำดิบสำรอง 15-16 เดือน
"ปีนี้คิดว่าจะต้องปรับเพิ่มราคาที่ดิน เพราะ land appraisal จากภาครัฐเพิ่มขึ้นสูงมาก ตรงนี้คงต้องขอพิจารณากันในบอร์ดเดือนนี้...ถ้าปรับราคาที่ดินขึ้น ก็แน่นอนรายได้รวมจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว เพียงแต่จะปรับที่เท่าไหร่ยังตอบไม่ได้"นายวิบูลย์ ให้สัมภาษณ์"อินโฟเควสท์"
นายวิบูลย์ กล่าวว่า เป้าหมายการขายที่ดินในปีนี้จะเติบโต 20% จากกว่า 800 ไร่ในปีก่อน ซึ่งเป็นการขายพื้นที่รวมทั้งหมดของกลุ่มอมตะฯ ทั้งในไทยและเวียดนาม ซึ่งเป็นการเติบโตตามตลาดนิคมอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ดีจากปีที่แล้ว เป็นผลจากการที่รัฐบาลมีมาตรการเร่งรัดการลงทุนด้วยการให้สิทธิประโยชน์การลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยจะต้องเริ่มดำเนินการจริงทั้งการผลิตหรือการให้บริการภายในสิ้นปี 60 รวมถึงบรรยากาศการเมืองที่อยู่ในภาวะที่นิ่งในขณะนี้ช่วยกระตุ้นนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง
ส่วนภาวะเศรษฐกิจที่หลายฝ่ายมองว่าจะยังคงชะลอตัวนั้น เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดนิคมฯมากนัก เพราะหากเศรษฐกิจชะลอตัวจริงก็เชื่อว่ารัฐบาลจะเข้ามาดูแลด้วยการออกมาตรการเข้ามากระตุ้นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อตลาดนิคมฯด้วยเช่นกัน
ปัจจุบันมีลูกค้าทั้งในไทยและต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาเยี่ยมชมกิจการของนิคมฯในกลุ่มอมตะฯต่อเนื่อง แม้จะยังไม่มีการขายได้ในช่วง 1 เดือนแรกของปีนี้ แต่ก็นับเป็นสัญญาณที่ดี เพราะฤดูการขายส่วนใหญ่จะมีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยล่าสุดมีนักลงทุนจากญี่ปุ่นต้องการซื้อที่ดินราว 120 ไร่ โดยกำลังพิจารณาว่าจะซื้อในไทยหรือเวียดนาม รวมถึง บริษัทยังคาดหวังว่าจะมีลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยางเข้ามาอย่างต่อเนื่องด้วย หลังจากที่ จงเช่อ รับเบอร์ จากประเทศจีนเข้ามาลงทุนผลิตและจำหน่ายยางรถยนต์ในไทย โดยตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง ทำให้พื้นที่อมตะซิตี้มีผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่เข้ามาลงทุนแล้วถึง 4 แห่ง
สำหรับการขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในเวียดนามนั้น มองว่ามีโอกาสขยายตัวได้ต่อเนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายขยายการลงทุนเข้าไปในเวียดนามจำนวนมาก อีกทั้งรัฐบาลเวียดนามก็ให้การสนับสนุนด้วยเช่นกัน ดังนั้น บริษัทจะเร่งผลักดันการขายพื้นที่ในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ เบียนหัวอยู่แล้ว และกำลังจะขยายไปในพื้นที่อมตะ ซิตี้ ลองถั่น คาดว่าจะเริ่มการขายให้เร็วขึ้น แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาพื้นที่ก็ตาม
ปัจจุบัน AMATA มีนิคมอุตสาหกรรมในไทย 2 แห่ง ได้แก่ อมตะนคร ในจ.ชลบุรี และอมตะซิตี้ ในจ.ระยอง ขณะที่กลุ่ม AMATA ถือหุ้นราว 73% ในบมจ.อมตะ วีเอ็น (AMATAV) ซึ่งเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมอมตะ ซิตี้ เบียนหัว และโครงการอมตะ ซิตี้ ลองถั่น ในเวียดนาม ขณะที่ AMATA ยังมีแผนจะเข้าไปพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเมียนมาร์ คาดว่าจะมีความคืบหน้าในอีก 1 ปีข้างหน้า หลังรอให้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับเขตเศรษฐกิจพิเศษในเมียนมาร์มีความชัดเจนก่อน
สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในนิคมกลุ่มอมตะฯ ส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนญี่ปุ่น ,จีน และอื่นๆ โดยมีประเภทอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ยานยนต์ ,สินค้าอุปโภคบริโภค ,เครื่องใช้ไฟฟ้า ,บริการและสาธารณูปโภคและโรงไฟฟ้า เป็นต้น
นายวิบูลย์ กล่าวว่า กลุ่มอมตะฯตั้งงบราว 5 พันล้านบาทเพื่อใช้ลงทุนของทั้งกลุ่มในปีนี้ โดยคาดว่าจะเป็นการลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการพัฒนาที่ดินไม่เกิน 2 พันล้านบาท และบริษัทยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินซื้อที่ดินเพิ่มเติม เพราะทั้งนิคมฯที่มีอยู่ คือ อมตะซิตี้ และอมตะนคร ยังมีพื้นที่เหลือรอการพัฒนาราว 1.3-1.4 หมื่นไร่ แบ่งเป็น นิคมฯอมตะนครราว 1 หมื่นไร่ และนิคมฯอมตะซิตี้ ราว 2-3 พันไร่ ส่วนนิคมฯอมตะ ซิตี้ เบียนหัว มีพื้นที่เหลือรอพัฒนาราว 50 เฮกตาร์
รายได้หลักของกลุ่มอมตะฯในปีนี้จะยังคงมาจากยอดขายพื้นที่นิคมฯเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็จะมีรายได้จากสาธารณูปโภคเข้ามาอีกส่วนหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากกำไรการขายสินทรัพย์เข้ากองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอมตะซัมมิทโกรทรีท (AMATAR) แต่ในปีนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนเพิ่มเติมหรือไม่ หลังผู้ประกอบการที่จะเข้ามาเช่าโรงงานได้ขอชะลอโครงการไปก่อน
ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่าไทยจะต้องเผชิญหน้าในปีนี้นั้น เชื่อว่าทางกลุ่มอมตะฯจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้เนื่องจากปัจจุบันกลุ่มอมตะฯมีอ่างเก็บน้ำดิบในพื้นที่นิคมฯจำนวนมาก สามารถรองรับการใช้น้ำเป็นเวลา 15-16 เดือนในกรณีที่ไม่มีฝนตกลงมาเลย ขณะเดียวกันยังสามารถนำน้ำกลับมาใช้รีไซเคิลได้อีก 1-2 หมื่นลูกบาศก์เมตร/วัน
AMATA ยังไม่ได้เปิดเผยผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา แต่ในช่วง 9 เดือนแรกปี 58 มีกำไรสุทธิ 1.03 พันล้านบาท และมีรายได้รวม 4.9 พันล้านบาท โดยราว 47% มาจากรายได้การขายอสังหาริมทรัพย์ ,21.5% มาจากรายได้ค่าสาธารณูปโภค และราว 17.6% มาจากกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์เข้ากองทรัสต์ เป็นต้น