ทั้งนี้ การกำกับดูแลกิจการ (CG) ของบริษัทจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และต้องมีการขับเคลื่อนที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะมาจากการสร้างวัฒนธรรม คุณธรรมขององค์กร ที่ยังเป็นประเด็นที่หลายบริษัทขาด มีเพียงการเน้นการรีแบรนด์ แต่การขับเคลื่อนของการสร้างวัฒนธรรมองค์กรยังไม่เห็นชัด อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนดังกล่าว เป็นสิ่งที่คณะกรรมการ หรือผู้บริหารระดับสูง จะต้องชี้ชัดไปเลยว่า สิ่งไหนที่เป็นค่านิยมที่สำคัญขององค์กร เพื่อให้ถูกกลั่นกรองมาเป็นนโยบายที่ทำร่วมกัน สามารถปฎิบัติได้
ด้านนายชนินท์ ว่องกุศลกิจ อดีตนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และกรรมการ บมจ.บ้านปู (BANPU) กล่าวว่า บริษัทได้ดำเนินแนวทางตามหลักวัฒนธรรมองค์กร มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท โดยปัจจุบันมีหลักเกณฑ์ 4 ข้อ ซึ่ง 1 ใน 4 ข้อนี้ มีเรื่องของความซื่อสัตย์ ยุติธรรม ในความถูกต้องของ Intensity ขณะที่ก็เริ่มมีการกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องของจริยธรรม ที่มีทั้งเรื่องของค่านิยม และอุดมการณ์ เพื่อให้เป็นมาตรฐานระดับสูงทางจริยธรรม คุณธรรม ในวิชาชีพ จากนั้นก็ได้เริ่มทำนโยบายบรรษัทภิบาล ภายในบริษัทซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาก็ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ ให้มีความทันสมัย เพื่อใช้คู่มือดังกล่าวในการโปรโมทในกลุ่มผู้บริหาร และพนักงาน ทั้งในประเทศ ต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง ขณะที่เกณฑ์การรับพนักงานเข้ามาทำงาน บริษัทจะมีการกลั่นกรองในเรื่องของวัฒนธรรม ให้มีความใกล้เคียงองค์กร ถ้าหากไม่มีความใกล้เคียงกับสิ่งที่บริษัทเชื่อมั่น ก็จะไม่รับเข้ามาทำงาน ส่วนที่มีการรับเข้ามา ก็จะมีการปฎิบัติร่วมกันในหลายรูปแบบ ทั้งการ sharing ,การฝึกอบรม และการปฐมนิเทศ โดยเป็นสิ่งที่บริษัทฯได้ยึดมั่นมายาวนาน และเป็นสิ่งที่ส่งผลดีต่อองค์กรอย่างมาก ประกอบกับบริษัทฯก็มีการวัดมาตรฐาน จากการสำรวจความมีจริยธรรม วัฒนธรรมองค์กร พนักงานอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการกระทำผิดของผู้บริหารระดับสูง เกี่ยวกับการนำข้อมูลของบริษัทไปใช้ในทางที่เป็นโทษ เป็นสิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญอย่างมากในการรักษาข้อมูล หากเกิดเหตุใช้ข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญมาก ก็คงจะต้องให้ออกจากหน้าที่
"บ้านปู เรามีฝ่ายที่ดูแลในเรื่องของบริษัทธรรมภิบาล โดยมีช่องทางการร้องเรียนฝ่ายเลขานุการของคณะทำงาน ซึ่งจะมีความเป็นอิสระต่อฝ่ายบริหาร การเก็บรักษาข้อมูล เราจะให้ความสำคัญของแต่ละคนดูแลรักษาข้อมูล ซึ่งเป็นสิ่งที่เราแคร์มาก แต่หากเกิดเหตุการณ์ที่เป็นการใช้ข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญมาก ก็อาจจะต้องให้ออกจากหน้าที่"นายชนินท์ กล่าว
ด้านนายเชาวลิต เอกบุตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การเงินและการลงทุน บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) กล่าวว่า เครือซิเมนต์ไทย หรือ SCG มีการเติบโตทางธุรกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และมีพนักงานค่อนข้างมาก โดยสิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารระดับสูงจะต้องเข้าไปรับผิดชอบ คือการสื่อสารกับพนักงานถึงอุดมการณ์ของการทำธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะพนักงานของบริษัทที่ SCG ได้เข้าไปซื้อกิจการ เพื่อเป็นหลักยึดถือในการทำงาน รวมถึงยังให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการลงมือปฎิบัติด้วย
พร้อมกันนี้นอกจากจะมีการปลูกฝังในเรื่องของอุดมการณ์แล้ว ยังมีเรื่องของการส่งเสริม ที่จะต้องมีข้อแนะนำ ซึ่งมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ใช้งานได้จริง รวมไปถึงมีกระบวนการควบคุม ตรวจสอบ ผ่านผู้บริหารงาน และพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น พนักงานบัญชีที่จัดทำเอกสาร สุดท้ายจะเป็นกลไกการตรวจสอบภายใน โดยการตรวจสอบบริษัทมีทั้ง Original audit และ ระบบเปิดรับฟังความคิดเห็น ของผู้ที่มีข้อมูลที่ส่อไปในทางที่ผิด แจ้งเข้ามา เพื่อให้มีการตรวจสอบ และการรับรู้อย่างทั่วถึงต่อไป
ขณะที่การฝึกอบรม ให้ความรู้ ปัจจุบันบริษัทได้ใช้แนวทาง 70:30 โดย 10% จะมาจากการอบรมใน Classroom หรืออบรมในงานสัมมนา และอีก 20% จะมาจากการทำงานกับหัวหน้างานอย่างใกล้ชิด แลกเปลี่ยนมุมมอง ส่วนที่เหลือ 70% จะเป็นการปฎิบัติงานจริง
"เราพยายามใช้กระบวนการเหล่านี้ เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาทำงานร่วมกับ SCG ก็จะได้รับประโยชน์ทั้งในส่วน 10:20:70 ขณะที่กรณีที่มีความผิดพลาด หากตรวจสอบพบภายหลังในธุรกิจที่เราเข้าไปซื้อ ทำเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เราก็มีความชัดเจนบอกให้เลิก แม้เราจะมีความสูญเสียยอดขายในช่วงนั้นไป แต่ในอนาคตเราจะสามารถทำธุรกิจที่ถูกต้อง"นายเชาวลิต กล่าว
นายเชาวลิต กล่าวว่า ส่วนการกระทำผิดของพนักงาน ตลอดจนผู้บริหารระดับสูง บริษัทได้ระบุไว้ในคู่มือ โดยแนวทางการพิจารณาการกระทำผิดของพนักงาน จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งก็จะพิจารณาไปตามกฎหมาย และการกระผิดตามจรรยาบรรณ ซึ่งเป็นการทำผิดทางวินัย ก็จะมีบทลงโทษตามระดับความผิด