AUM ของบริษัทในปีที่ผ่านมาปรับตัวลดลงเล็กน้อยประมาณ 6% โดยเป็นการปรับตัวลงตามทิศทางการลงทุนของตลาดหุ้นทั่วโลกที่ลดลงมากกว่า 10% และบริษัทได้เพิ่มความระมัดระวังในการเสนอขายกองทุนตราสารหนี้มากขึ้น เนื่องจากปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกค่อนข้างซบเซา ประกอบกับ บริษัทได้ปิดกองทุนอสังหาริมทรัพย์ประเภทกอง 2 กอง 3 และ กอง 4 ลง ซึ่งเป็นการปิดกองตามกฎระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
อีกทั้งในปี 58 AUM ของกองทุนส่วนบุคคลมีการปรับลดลง เนื่องจากลูกค้ามีการย้ายพอร์ตการบริหารจากกองทุนตราสารหนี้มายังกองทุนย่อยตราสารทุน ซึ่งปัจจุบันนี้บริษัทก็ได้รับการแต่งตั้งให้บริหารกองทุนย่อยตราสารทุนจากลูกค้ารายเดิมเป็นที่เรียบร้อย อย่างไรก็ดี เฉพาะเดือนม.ค. ที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราการเติบโตของ AUM เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของกองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวม ในสัดส่วน 32%, 14% และ 54% จากเดิม 29% ,12% และ 59% ตามลำดับ ซึ่งบริษัทเชื่อมั่นว่าทั้งปีสัดส่วนการเติบโตของ AUM จะเป็นไปตามเป้าหมาย อีกทั้งในช่วงครึ่งปีแรก บริษัทจะเร่งผลักดันกองทุนที่อยู่ภายใต้การบริหารไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศ ได้แก่ กองทุน ONE-STOXXASEAN เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์(SGX) ซึ่งจะเป็นกองทุนรวมแรกของประเทศไทย
ปีนี้บริษัทจะเน้นขยายธุรกิจให้เติบโตในลักษณะสมดุลกัน ทั้งธุรกิจกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กองทุนอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน และบริษัทตั้งเป้าจะขยายฐานลูกค้าใหม่ในส่วนของลูกค้ากองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงผ่านโปรแกรมลูกค้าเก่าแนะนำลูกค้าใหม่ (Referral Program) ผ่านกิจกรรมสนับสนุนการขายต่างๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับนักลงทุน
ด้านนายมณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.วรรณ เปิดเผยว่า ภาพการลงทุนในปีนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกมีโอกาสผันผวนในระยะสั้น จากผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนและราคาน้ำมันที่ปรับตัวลง ขณะที่ระยะกลางถึงยาว บริษัทคงมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินเชิงปริมาณของธนาคารกลางจากประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งสนับสนุนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง
โดยตลาดหุ้นต่างประเทศที่บริษัทมองว่าน่าสนใจ ได้แก่ ตลาดหุ้นญี่ปุ่นและยุโรป เนื่องจากมูลค่าหุ้นที่อยู่ในระดับไม่สูงมากนัก และปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ยังทรงตัวได้ดีและโอกาสของสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินเชิงปริมาณ ขณะที่ตลาดหุ้นประเทศสหรัฐ บริษัทมองว่า ภาพการลงทุนในปีนี้ โอกาสปรับตัวขึ้นจะเป็นภายใต้ขอบเขตที่จำกัดกว่าหากเทียบกับประเทศญี่ปุ่นและยุโรป เนื่องจากมูลค่าหุ้นที่สูงกว่าและผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ
สำหรับภาพการลงทุนในตลาดหุ้นไทย บริษัทตั้งเป้าดัชนีปี 2559 ที่ระดับ 1,488 จุด โดยมองว่าตลาดหุ้นไทยในปีนี้แรงซื้อที่สำคัญจะมาจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยในประเทศเป็นหลัก เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุนได้ โดยในระยะปานกลางถึงยาว
บริษัทประเมินว่าตลาดหุ้นไทยจะมีแรงซื้อกลับจากนักลงทุนต่างชาติ ด้วยสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจของตลาดหุ้นทั่วโลกที่ยังมีอยู่มาก ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนหันกลับมาสนใจในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง และ ณ ระดับดัชนี 1,300 จุด ซึ่งมีค่า P/E ที่ 13.09 เท่า ขณะที่คาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของกำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 25.15% และอัตราการจ่ายปันผลของหุ้นไทยที่ระดับ 3.55% ตลาดหุ้นไทยยังมีความน่าสนใจลงทุนมากกว่า เมื่อเทียบกับตลาดภูมิภาคในกลุ่ม TIP (อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์) ซึ่งคาดว่าอยู่ที่ระดับ 14.01 เท่า 85.56% 2.22% และ 16.34 เท่า 17.29% และ 2.11% ตามลำดับ