ส่วนในปีนี้คาดว่าน่าจะมีช่องทีวีดิจิตตอลประมาณ 10 ช่องที่มีทิศทางที่ชัดเจนในการประกอบกิจการ จากทั้งหมดที่มีอยู่ 24 ช่อง
"ในปีนี้น่าจะมีผลที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ส่วนที่เหลือนั้นยังคงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการนำเสนอเนื้อหาเพื่อสร้างกลุ่มผู้ชมของตนเอง" พ.อ.นที กล่าว
ทั้งนี้ ธุรกิจรายเดิม คือ ช่อง 3 ช่อง 7 และช่อง 9 เป็นกลุ่มแชมป์เก่าต้องเผชิญกับการแข่งขันในการประกอบกิจการเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มผลิตรายการขนาดใหญ่ ได้แก่ WORK , RS , GMM, MONO, TRUR4U จะเริ่มมีทิศทางที่ชัดเจนและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ขณะที่กลุ่มที่มาจากธุรกิจอื่น ได้แก่ ไทยรัฐทีวี อมรินทร์ทีวี PPTV เป็นกลุ่มที่รับทราบอยู่แล้วว่าเข้ามาสู่สนามใหม่ และอาจต้องใช้เวลาในการสร้างกลุ่มผู้ชม เนื่องจากรายการโทรทัศน์มีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ละช่องต้องมีกลยุทธ์และสร้างความเป็นตัวตนเพื่อให้มีผู้ติดตามเฉพาะกลุ่ม
"คนที่ทำทีวีต้องมีสายป่านพอสมควร เราจะไปกีดกั้นกลุ่มขนาดกลางขนาดเล็กเข้าสู่ระบบไม่ได้ เราจะไม่ให้เขาประมูลไม่ได้ เขาต้องรู้ตั้งแต่เข้ามาอยู่แล้ว" พ.อ.นที กล่าว
ประธาน กสท.กล่าวว่า หลังจากผ่านไปเกือบ 2 ปี จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้ประกอบกิจการรายเดิมเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง ไม่ง่ายที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด ในขณะที่ผู้ผลิตรายการขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญมีเนื้อหาที่เป็นที่สนใจของประชาชนก็สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ ส่วนที่เหลือต้องปรับกลยุทธ์ วิธีการ รวมถึง ปรับทิศทางการนำเสนอเนื้อหาเพื่อให้สามารถตอบโจทย์สนองตอบความต้องการผู้ชม
"ผมคิดว่าส่วนแบ่งการตลาดโดยรวมของช่องดิจิตอลรายใหม่ สามารถทำได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่นๆในโลกแต่ก็ยังต้องพยายามเพิ่มขึ้น" พ.อ.นที กล่าว