ตลท.เยือนตลาดหุ้นอินโดฯ พร้อมหนุนพัฒนาเสริมร่วมกันสร้างโอกาสในภูมิภาค

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 15, 2016 14:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสันติ กีระนันทน์ รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวในโอกาสเดินทางเข้าดูงานตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย (IDX) ว่า ตลาดหุ้นไทยมองตลาดหุ้นอินโดนิเซียเป็นทั้งคู่แข่ง และเป็นพันธมิตรที่จะต้องสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาและสร้างความแข็งแกร่งร่วมกัน โดยยอมรับว่าอินโดนิเซียมีโอกาสในการเติบโตสูง เนื่องจากจำนวนประชากรมากถึงราว 250 ล้านคน สูงกว่าประชากรของไทยถึง 4 เท่า แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่ของบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของอินโดนีเซียยังมีแค่ 4.4 แสนบัญชี ขณะที่ไทยนั้นมีจำนวนประชากรราว 60 ล้านคน แต่มีจำนวนบัญชี 8.9 แสนบัญชี และปีนี้ตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 9 แสนบัญชี
"เป็นโจทย์สำคัญที่ต้องทำต่อไปว่า SET ดำเนินการอย่างไร เพราะอย่างไรก็ตาม ตลท.ก็ไม่ได้หยุดพัฒนา พบว่าที่ผ่านมาผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยจะมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าบริษัทจดทะเบียนในอินโดนิเซีย"นายสันติ กล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันอินโดนิเซียมีจำนวนต่างชาติเข้าลงทุนราว 50% เพราะการเมืองภายในประเทศมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ หากการเมืองไทยมีเสถียรภาพ และรัฐบาลดำเนินการตามนโยบายที่ประกาศไว้ อาทิ การจัดการเลือกตั้งในปี 60 จะช่วยหนุนให้นักลงทุนต่างประเทศเชื่อมั่นและกลับเข้าลงทุน เพราะ ตลท.มองว่าหากการเมืองภายในประเทศนิ่งก็จะมีส่วนช่วยหนุนให้เม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาลงทุน

อย่างไรก็ตาม นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคค่อนข้างที่จะคล้ายกัน ส่วนไทยที่แตกต่างกับประเทศอื่นๆ คือ เน้นการวางรากฐาน ทั้งรากหญ้า และ SMEs และเมื่อแนวทางในการดำเนินงานของรัฐบาลประสบความสำเร็จจะช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง และการมีฐานที่แข็งแรงจะช่วยทำให้นักลงทุนต่างชาติไหลกลับ ทั้งสัดส่วนที่นักลงทุนต่างชาติลงทุนในประเทศไทยปัจจุบันอยู่ที่ 30% จากกรอบที่ 49% ดังนั้น จะเห็นว่าถ้าตลาดฯมีอัตราการเติบโตก็จะยังมีช่องทางในการขยายสัดส่วน การลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศได้อีกด้วย และที่ผ่านมา ตลท. ก็ให้ความสำคัญกับนักลงทุนต่างชาติเสมอ โดยมีการโรดโชว์เสนอข้อมูลต่อนักลงทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

นายนิกกี้ โฮเกน รองกรรมการผู้จัดการ ด้านพัฒนาธุรกิจ ตลาดหลักทรัพย์อินโดนิเซีย (IDX) กล่าวถึงเศรษฐกิจมหภาคในอินโดนีเซียว่า อินโดนีเซียเป็นหมู่เกาะที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีพื้นที่มหาศาลราว 5 ล้านกว่าตารางกิโลเมตร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 16 ของโลก และประชากรมีอายุเฉลี่ย 29 ปี เมื่อเทียบกับประชากรไทยอายุ 35 ปี สะท้อนว่าอินโดนิเซียยังมีอนาคตที่สามารถเติบโตได้ไกลด้วยอายุประชากรที่ยังน้อย

สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจนั้น พบว่าในปี 51 เศรษฐกิจอินโดนีเซียชะลอตัวอย่างมาก ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับทั่วโลก และช่วงปี 58 ที่ผ่านมาถือว่าเป็นจุดต่ำสุด จากผลกระทบการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากอินโดนีเซียมีสัดส่วนการส่งออกไปประเทศจีนค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ยังถือว่าอินโดนีเซียสามารถประคองเศรษฐกิจให้ผ่านวิกฤตมาได้ โดยการเติบโตเศรษฐกิจขณะนี้มีสัดส่วนการลงทุนจากภาครัฐและเอกชน 30% และการบริโภค 50%

ปัจจุบัน เศรษฐกิจอินโดเนีซียก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวได้แล้ว ขณะที่รัฐบาลเองก็มีการออกมาตรการต่างๆ มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลเข้ามาดูแลเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้ขึ้นหรือลงมากเกินไป และไม่เคลื่อนไหวตามค่าเงินอื่นๆ ทั่วโลก หากไม่มีมาตรการพยุงเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยนจะเคลื่อนไหวตามค่าเงินประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ธนาคารกลางได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา เพื่อหนุนให้มีการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้หวังว่าเศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะเติบโตได้ด้วยดี เช่นเดียวกันเมื่อดอกเบี้ยลง ก็คาดหวังว่าดัชนีจะปรับตัวเพิ่มขึ้น

นายนิกกี้ กล่าวต่อว่า เมื่อเทียบปี 41 กับปี 51 ช่วงที่มีปัญหาวิกฤตทั่วโลก อินโดนีเซียมีระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 30% และ 3.8% ตามลำดับ ส่วนปี 58 ระดับ NPL อยู่ที่ 2.66% ซึ่งแบงก์ชาติคาดว่าจะขึ้นไปถึงระดับ 5% และปัจจุบันปรับลดลงไปที่ระดับ 2% ถือว่าน่าพอใจ และแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจค่อนข้างมีเสถียรภาพ

ตลาดหุ้นอินโดนีเซียมาร์เก็ตแคป 13 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นไทย โดยมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) 20 บริษัท จากทั้งหมด 524 บริษัท ที่มีมาร์เก็ตแคปสูง อันดับแรก คือ HM Sampoerna Tbk. โดยมีมาร์เก็ตแคป 481.56 Trillion Rp คิดเป็น 9.83% อันดับที่ 2 คือ Telekomunikasi Indonesia (Persro) Tbk. [S]โดยมีมาร์เก็ตแคป 336.67 Trillion Rp คิดเป็น 6.87% ขณะที่ Charorn Pokphand Indonesia Tbk. โดยมีมาร์เก็ตแคป 54.85 Trillion Rp คิดเป็น 1.12% ซึ่งหากรวม 20 บจ. หรือคิดเป็น 62.07% โดยมีมาร์เก็ตแคป 3,041.46 ล้านล้านรูเปียะห์

สำหรับสุขภาพของ บจ. ในตลาดหุ้นอินโดนีเซียให้ผลตอบแทนที่ดี และกำไรมีการเติบโตดีมาก ส่วนกลุ่มน้ำมันและถ่านหินอาจจะได้รับผลกระทบราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มที่น่าสนใจคือแบงก์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าอันดับที่ 5 ที่มีมาร์เก็ตสูง คือ Bank Rakyat Indonesia (Persero)Tbk. และเป็นไมโครแบงก์ โดยมีมาร์เก็ตแคป 274.14 ล้านล้านรูเปีย คิดเป็น 5.6% ทั้งนี้ พบว่ากำไรปีก่อนเติบโตมาก และตัวเลขส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย 10% ซึ่งแบงก์ปกติจะอยู่ประมาณ 5%

ทั้งนี้ ผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ที่ 16% โดยเฉลี่ย 5 ปี ถ้าคำนวน 10 ปี ผลตอบแทนจากการลงทุนอยู่ที่ 26% และตลาดหุ้นอินโดนีเซียยังถือว่ามีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันมีจำนวนบัญชี 4.4 แสนบัญชี โดย 70% เป็นสถาบัน และ 30% เป็นรายย่อย ซึ่งปัจจุบันตลาดหุ้นอินโดนีเซียอยู่ระหว่างการขยายฐาน โดยได้เปิด Indovision channel ในปีก่อน เพื่อที่จะถ่ายทอดข่าวสารของตลาดหุ้นไปยัฃภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้ตลาดหุ้นอินโดนีเซียขยายตัวได้ในอนาคต

สำหรับ 5 ข้อที่เป็นปัจจัยหนุนให้เกิดการเติบโตในปีนี้ ภายใต้รัฐบาลอินโดนีเซียที่จะมีมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นผลดีในระยะสั้นและยาว ได้แก่ นิรโทษกรรมภาษี เพื่อกระตุ้นเงินให้ไหลกลับเข้ามาในประเทศ ขณะที่น้ำมันที่เป็นเศรษฐกิจหลักก็จะปรับลดราคาอีกจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวให้มากขึ้น ด้านภาวะเงินเฟ้อปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่แล้ว ดังนั้นไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย และมีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ย

นอกจากนี้ คาดรัฐบาลจะมีนโยบายออกมากระตุ้นโครงสร้างพื้นฐาน เช่นโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน ท่าเรือ และสร้างสะพาน รวมถึงยังมีโอกาสที่จะดึงนักลงทุนต่างชาติ อาทิจีน เข้ามาลงทุนในประเทศอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ