"เราเปิดให้มีการนำเข้า LPG เพื่อส่งออกอยู่แล้ว การนำเข้าเพื่อส่งออกไม่มีเงื่อนไขให้แจ้งมาที่กรมเท่านั้น แต่ถ้าเป็น LPG ที่ให้ขายในประเทศเราห้ามการส่งออก...ตอนนี้มีกลุ่มสยามแก๊สฯที่มีการนำเข้าและส่งออกมา 2 เดือนแล้ว ในปริมาณที่ไม่เยอะ ซึ่งเดิมเขาอยากจะทำอยู่แล้วแต่มีปัญหาเรื่องของคลังทัณฑ์บนกับกรมศุลกากร แต่ตอนนี้เรียบร้อยแล้ว ส่วนปตท.ยังไม่ได้ส่งออกเพียงแต่ทำเรื่องเข้ามาหารือว่าอยากจะนำเข้าเพื่อส่งออก"นายวิฑูรย์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ ปตท.ได้แสดงความสนใจที่จะนำเข้า LPG เพื่อการส่งออกหลังจากที่การขยายคลังนำเข้า LPG เพิ่มเป็น 2.5 แสนตัน/เดือน จาก 1.3 แสนตัน/เดือนจะแล้วเสร็จในเดือนเม.ย.นี้ ท่ามกลางปริมาณการนำเข้า LPG ที่หดตัวลงอย่างมาก หลังรัฐบาลปรับโครงสร้างราคา LPG ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น
นายวิฑูรย์ กล่าวอีกว่า ตามนโยบายของกระทรวงสนับสนุนให้มีการนำเข้า LPG เพื่อการส่งออกได้อยู่แล้ว เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยป้องกันปัญหาการลักลอบส่งออก LPG ตามแนวชายแดน ซึ่งในช่วงที่ราคา LPG ในประเทศสูงขึ้น ทำให้ปริมาณการลักลอบส่งออกตามแนวชายแดนลดลง ขณะที่ผู้ค้ามาตรา 7 อื่นๆ ยังขออนุญาตซื้อ LPG นำเข้าจาก ปตท.เพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านด้วย ปัจจุบันมีการส่งออกไปยังเมียนมาร์ราว 2,500 ตัน/เดือน ,กัมพูชา ราว 1,000 ตัน/เดือน และลาว ประมาณ 500 ตัน/เดือน
ขณะที่ปัจจุบันการนำเข้า LPG ลดลงอย่างมาก โดยปริมาณการนำเข้าในเดือน ม.ค.59 อยู่ที่ราว 4.6 หมื่นตัน ลดลง 67% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการนำเข้าสูงถึง 1.39 แสนตัน หลังราคาน้ำมันปรับตัวลดลงมาก ทำให้ปริมาณการใช้ลดลงไปมากโดยเฉพาะในภาคขนส่ง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวยังมีผลต่อการใช้ LPG ด้วย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระทรวงอยู่ระหว่างการดำเนินตามโรดแมพการให้ธุรกิจ LPG มีการแข่งขันที่เสรีมากขึ้น เพื่อนำไปสู่ต้นทุนจริงที่ชัดเจนมากขึ้น จากเดิมที่มีการนำเข้าเพื่อใช้ในประเทศเพียงรายเดียวคือ ปตท.เท่านั้น โดยล่าสุดได้เปิดให้บริษัท พีเอพี แก็ส แอนด์ ออยล์ จำกัด (PAP) นำเข้า LPG เพื่อใช้ในประเทศในปริมาณ 2 พันตัน/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน
นายวิฑูรย์ กล่าวถึงแนวคิดที่จะยกเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 นั้นอาจจะต้องชะลอออกไป หลังจากก่อนหน้านี้มีแนวคิดดังกล่าวเพราะว่าผู้ค้าน้ำมันมีหัวจ่ายน้ำมันกลุ่มเบนซินจำนวนมาก ทั้งเบนซิน ออกเทน 95 ,แก๊สโซฮอล์ 95 ,แก๊สโซฮอล์ 91 ,E20 และ E85 ทำให้กระทรวงมีนโยบายที่จะทำให้ราคาแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 ใกล้เคียงกันเพื่ออาจจะยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 ในที่สุดนั้น แต่ล่าสุดกลับพบว่าผู้ประกอบการบางราย ได้หันมาจำหน่ายน้ำมันเกรดพรีเมียมมากขึ้น ทั้งแก๊สโซฮอล์ และดีเซล ซึ่งน้ำมันประเภทนี้มีราคาสูงกว่าน้ำมันเกรดพื้นฐานทั่วไป แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีหัวเพียงพอ ทำให้อาจไม่จำเป็นต้องยกเลิกน้ำมันบางประเภทดังกล่าว
"เมื่อการค้าน้ำมันเป็นระบบเสรีเราก็คงไปทำอะไรไม่ได้ ใครจะขายเกรดพรีเมียมก็ทำได้ ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคตัดสินใจ แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาเสนอลดหัวจ่ายน้ำมันพื้นฐาน ถ้าหัวจ่ายมีเพียงพอก็คงยังไม่จำเป็นต้องเร่งยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91"นายวิฑูรย์ กล่าว