ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้รายงานต่อที่ประชุม ครม.วันนี้ถึงสถานการณ์การยกเลิกเที่ยวบินของนกแอร์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 14 ก.พ.จำนวน 9 เที่ยวบินในวันดังกล่าว เนื่องจากนักบินของสายการบินนกแอร์ประท้วง ส่งผลให้มีผู้โดยสารตกค้างที่สนามบินเป็นจำนวนมาก
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายสมคิดระบุว่าหากเกิดปัญหาในลักษณะนี้ทางประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ต้องออกมารับผิดชอบตั้งแต่เนิ่นๆ จะปล่อยให้ปัญหาคาราคาซัง โดยปล่อยให้มีแต่พนักงานในระดับที่ต่ำลงไปมาแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะว่าได้พิสูจน์แล้วว่าปัญหาเหล่านั้นไม่ได้ถูกแก้ไขได้จริง ดังนั้น อย่าหนีปัญหา ต้องกล้าเผชิญหน้าเพื่อแก้ปัญหาให้ผู้โดยสาร
นอกจากนั้น นายสมคิด ยังกล่าวกับ รมช.คมนาคม และตัวแทนกระทรวงคมนาคมว่า ทุกสายการบินจะต้องมีแผนฉุกเฉินและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจน ขณะเดียวกันทุกสายการบินจะต้องเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาในการจัดเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารไปยังจุดหมาย นอกจากนั้น ผู้บริหารกระทรวงคมนาคมจะต้องเตรียมพร้อมรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับบุคลากรในองค์การด้านการบินที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะอาจได้รับผลจากมาตรการยกระดับมาตรฐานการบิน ดังนั้น ต้องไม่ปล่อยให้แต่ละสายการบินแก้ไขปัญหาเพียงลำพัง
นายสมคิด สั่งการให้ทุกสายการบินจะต้องมีแผนฉุกเฉิน ต้องมีแผนบริหารความเสี่ยง ส่งแผนนี้ให้กระทรวงคมนาคมรับทราบล่วงหน้า 1 เดือน ต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคให้ชัดเจน และต้องมีความร่วมมือซึ่งกันและกันกับสายการบินอื่น เรื่องการแข่งขันทางธุรกิจเป็นเรื่องหนึ่งแต่ก็ต้องเข้าใจและเห็นใจผู้โดยสารที่ประสบปัญหาแบบนี้และไม่รู้ชะตากรรม และไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง เพราะฉะนั้นบรรดาสายการบินจะต้องร่วมแก้ปัญหากรณีจัดเที่ยวบินให้ผู้โดยสาร
"รัฐบาลรับไม่ได้ในเชิงคุ้มครองผู้บริโภค รัฐคือผู้คุ้มกฎในการดูแลผู้บริโภค เราปล่อยปละละเลยปัญหาแบบนี้ไม่ได้...ต้องเรียกนกแอร์มาเตือนว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 จะมีการพักการใช้ใบอนุญาต และถ้ายังมีเป็นครั้งที่ 3 จะเพิกถอนใบอนุญาตการบิน...และจะใช้มาตรการแบบนี้กับทุกสายการบิน คือ จะตักเตือนในครั้งแรก" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมตรี อ้างคำพูดของนายสมคิดที่กล่าวต่อที่ประชุม ครม.วันนี้
อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมไม่ได้รายงานว่าเหตุผลที่ทางผู้บริหารของสายการบินนกแอร์ไม่ได้เข้าร่วมประชุมและไม่ได้ส่งตัวแทนเข้ามาหารือกับอีก 13 สายการบินวานนี้เพราะสาเหตุใด