อันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของบริษัทสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทย ตลอดจนผลงานที่เป็นที่ยอมรับในโครงการก่อสร้างพื้นฐานและโครงการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมทั้งความยืดหยุ่นทางการเงินจากมูลค่าเงินลงทุนเชิงกลยุทธ์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากความผันผวนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตลอดจนความเสี่ยงของสัญญาที่มีลักษณะต่อหน่วยแบบคงที่ (Fixed-price Contract) และภาระหนี้ที่สูงของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันและสามารถรักษาอัตราส่วนกำไรให้อยู่ในระดับสูงกว่า 6% โดยเฉลี่ย รวมทั้งเงินทุนหมุนเวียนในโครงการไซยะบุรีจะปรับตัวดีขึ้น
ปัจจัยบวกด้านเครดิตคือกรณีที่บริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดและโครงการในมือได้สูงกว่าประมาณการในขณะที่บริษัทยังสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนในระดับต่ำกว่า 60% เป็นระยะเวลาต่อเนื่องได้ ปัจจัยลบด้านเครดิตคือการมีต้นทุนก่อสร้างในโครงการหลัก ๆ ที่สูงกว่าประมาณการอย่างมีนัยสำคัญ หรือการให้การสนับสนุนทางการเงินหรือการลงทุนในบริษัทในเครือที่มีมูลค่าสูงนอกเหนือจากประมาณการซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อกระแสเงินสดของบริษัท
บริษัท ช. การช่างก่อตั้งในปี 2515 โดยตระกูลตรีวิศวเวทย์ บริษัทเป็นหนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ 3 รายที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทยและมีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างตั้งแต่งานโยธาโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงโครงการที่มีความซับซ้อนสูง บริษัทมีเงินลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) (TTW) และ บริษัท ซีเคพาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CKP) ในปี 2558 กลุ่มบริษัท ช. การช่าง ดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจหลักประกอบด้วยการควบรวมกิจการของ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BECL) และบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BMCL) เป็นบริษัทใหม่คือ BEM และการขายหุ้นของ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) ที่บริษัทถืออยู่ทั้งหมดให้แก่ CKP
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 บริษัทมีงานรับเหมาก่อสร้างที่ยังไม่ส่งมอบมูลค่า 9.25 หมื่นล้านบาท โดยมีโครงการหลักได้แก่ โครงการเขื่อนไซยะบุรีซึ่งมีมูลค่า 3.51 หมื่นล้านบาท โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระถึงขอนแก่น มูลค่า 1.53 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาที่ 4 มูลค่า 1.12 หมื่นล้านบาท และโครงการทางพิเศษศรีรัช วงแหวนรอบนอก มูลค่า 8,100 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการเขื่อนไซยะบุรีมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 38% ของมูลค่าโครงการที่ยังไม่ส่งมอบทั้งหมด
สถานะทางการเงินของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2558 ยังคงสอดคล้องตามประมาณการของทริสเรทติ้ง ยกเว้นระดับภาระหนี้ที่ยังคงสูงกว่าประมาณการจากความต้องการเงินทุนหมุนเวียนสำหรับโครงการไซยะบุรี และภาระหนี้ที่ใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 3.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2558-2561 โดยจะเป็นรายได้จากโครงการเขื่อนไซยะบุรีประมาณ 8,000 ล้านบาทถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 25%-30% ของประมาณการรายได้ ทั้งนี้ งานรับเหมาก่อสร้างในมือจำนวนมากที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 95% 60% และ 35% ของประมาณการรายได้ในปี 2559 2560 และ 2561 ตามลำดับ
อัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ในช่วงปี 2558-2561 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 6% โดยเฉลี่ย เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 1,600 ล้านบาทต่อปี ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี และการจ่ายเงินปันผลประมาณ 300-500 ล้านบาท
ทริสเรทติ้งมองว่าภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันแม้ว่าบริษัทจะมีภาระหนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้รับเหมาที่ได้รับอันดับเครดิตเท่ากัน ทั้งนี้ เนื่องจากโครงสร้างทางธุรกิจของบริษัทเป็นทั้งผู้รับเหมาและประกอบธุรกิจลงทุน โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ที่ 71.4% อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2558-2559 และปรับดีขึ้นมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 62% ในปี 2560 หลังจากที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาที่ 4 แล้วเสร็จ
บริษัทมีสภาพคล่องที่เหมาะสมและมีปัจจัยสนับสนุนด้านความยืดหยุ่นทางการเงินจากมูลค่าเงินลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียน ณ เดือนกันยายน 2558 เงินลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนของบริษัทมีมูลค่ายุติธรรมที่ 3.2 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 64% ของภาระหนี้รวมของบริษัท ในช่วงปี 2558-2561 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงกว่า 2.5 เท่า ส่วนอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคาดว่าจะอยู่ในระดับประมาณ 5%-8% โดยเฉลี่ย