1.งานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 (ชั้น B2 ชั้น B1 และชั้น G) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานโครงสร้างและงานระบบหลัก)
2.งานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (ชั้น 2-4) และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้(งานระบบย่อย) 3.งานจ้างก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก อาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออก 4.งานจ้างก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค 5.งานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) 6.งานจัดซื้อพร้อมติดตั้งระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า (BHS) และระบบตรวจจับวัตถุระเบิด (EDS) (ขาออก) 7.งานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554-2560)
ทอท.ได้ดำเนินการจัดทำเอกสารประกวดราคาและราคากลางแล้วเสร็จ 2 งาน ได้แก่ งานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 (ชั้น B2 ชั้น B1 และชั้น G) ลานจอดอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 และส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานโครงสร้างและงานระบบหลัก) และงานจ้างก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ปีงบประมาณ 2554- 2560) และเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ได้จัดส่งเอกสารดังกล่าวให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบงบประมาณภาครัฐ (คตร.) พิจารณา และ ทอท.ได้เข้าร่วมประชุมชี้แจงรายละเอียดของทั้งสองงาน ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2559 คตร.มีมติรับทราบในรายละเอียดของ ทั้งสองงานและให้ ทอท.นำไปดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ ทั้งนี้ ทอท.จะประกาศประกวดราคาหาผู้รับจ้างก่อสร้างสำหรับงานดังกล่าวในเดือนมีนาคม 2559 และคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2559
นอกจากนี้ เห็นชอบแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) (ฉบับปรับปรุง) แผนแม่บทดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ การพัฒนา ทสภ.และ ทดม.ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และ 12 นโยบายกระทรวงคมนาคม วิสัยทัศน์องค์กร รวมถึงเพื่อให้ท่าอากาศยานมีความยั่งยืนในการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศ ผู้โดยสาร รวมทั้งกิจกรรมทางด้านการบินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และพัฒนาให้มีความสมดุลทั้ง Airside และ Landside โดยได้มีการศึกษาจากแผนแม่บทเดิมในปี 2546 ซึ่งอยู่บนสมมติฐานว่าจะใช้ ทสภ.เพียงแห่งเดียวในการรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศ (Single Airport) นอกจากนั้น ยังนำเสนอการศึกษาขีดความสามารถสิ่งอำนวยความสะดวกปัจจุบันของ ทสภ.ได้แก่ ระบบทางวิ่ง ทางขับ หลุมจอดอากาศยาน อาคารผู้โดยสาร
ทั้งนี้ คาดการณ์ปริมาณการจราจรทางอากาศ ซึ่งพบว่าในปี 2563, 2568 จะมีผู้โดยสารมาใช้บริการจำนวน 71.38 ล้านคน และ 86.18 ล้านคน ตามลำดับ และจะสูงเพิ่มขึ้นโดยในปี 2578 คาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารถึง 120.30 ล้านคน สำหรับเที่ยวบินในปี 2563 และ 2568 มีเที่ยวบินจำนวน 393,785 และ 449,044 เที่ยวบิน ตามลำดับ และเพิ่มขึ้นจนถึงในปี 2578 มีเที่ยวบินถึง 561,332 เที่ยวบิน ทางด้านสินค้าปี 2563 และ 2568 มีสินค้ารวม 1.39 และ 1.54 ล้านตัน ตามลำดับ และในปี 2578 จะมีปริมาณ 1.89 ล้านตัน
การศึกษาทางด้านความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกของ ทสภ.พบว่ามีความต้องการการพัฒนาทั้งทางด้าน Airside และ Landside รวมถึงระบบสาธารณูปโภค เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณการจราจรทางอากาศที่สูงขึ้น โดยได้จัดทำแผนพัฒนาและการใช้ประโยชน์พื้นที่ ทสภ.แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
1.1 แผนพัฒนา ทสภ.ระยะสั้น เป็นการพัฒนาต่อเนื่องจากโครงการพัฒนา ทสภ.ซึ่ง ทอท.ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว และโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการขออนุมัติมีเป้าหมายที่จะดำเนินการพัฒนา ทสภ.ให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้ไม่น้อยกว่า 79 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 90 ล้านคนต่อปี และสามารถรองรับได้จนถึงปี พ.ศ.2568 โดยในกลุ่มงาน Airside ประกอบด้วย งานก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 งานปรับปรุงคุณภาพดินสำหรับลานจอดอากาศยาน งานก่อสร้างลานจอดอากาศยาน 14 หลุมจอดพร้อมระบบทางขับ งานก่อสร้างอุโมงค์ส่วนต่อขยายไปยังอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2 ในกลุ่มงานอาคารผู้โดยสาร จะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และปรับปรุงอาคารเทียบเครื่องบิน A, B
1.2 แผนพัฒนา ทสภ.ระยะกลาง เป็นการพัฒนาต่อเนื่องจากการพัฒนาระยะสั้น มีเป้าหมายที่จะดำเนินการพัฒนา ทสภ.ให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้ไม่น้อยกว่า 89 เที่ยวบินต่อชั่วโมงและรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 105 ล้านคนต่อปี และสามารถรองรับได้จนถึงสิ้นปี พ.ศ.2573 ในกลุ่มงาน Airside ประกอบด้วยงานก่อสร้าง ลานจอดอากาศยาน จำนวน 14 หลุมจอดพร้อมระบบทางขับ งานก่อสร้างอุโมงค์ส่วนต่อขยายด้านทิศใต้ และการปรับปรุงคุณภาพดินสำหรับทางวิ่งเส้นที่ 4 เป็นต้น ส่วนกลุ่มงานอาคารผู้โดยสารมีกลุ่มงานอาคารผู้โดยสารมีการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 2
1.3 แผนพัฒนา ทสภ.ระยะยาว เป็นการดำเนินการพัฒนาต่อเนื่องจากการพัฒนาระยะกลาง มีเป้าหมายที่จะดำเนินการพัฒนา ทสภ.ให้สามารถรองรับปริมาณเที่ยวบินได้ไม่น้อยกว่า 99 เที่ยวบินต่อชั่วโมงและรองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 120 ล้านคนต่อปี สามารถรองรับได้จนถึงปี พ.ศ.2578 ในกลุ่มงาน Airside มีงานก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 4 กลุ่มงานอาคารผู้โดยสารมีงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศใต้ เป็นต้น นอกจากนั้น จะมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภครองรับควบคู่ไปด้วย รวมทั้งยังมีการจัดผังการใช้ประโยชน์พื้นที่ ทสภ.อีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อคณะกรรมการ ทอท.ให้การเห็นชอบแล้ว ทอท.จะได้ดำเนินการตามขั้นตอนการขออนุมัติต่อไป
คณะกรรมการ ทอท.รับทราบรายงานสรุปความเป็นมาของการให้สิทธิการให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Pick up Counter) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) และท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.)ซึ่งเป็นการให้สิทธิโดยผ่านการประมูลคัดเลือก โดยในส่วนของ ทสภ.ผู้ชนะการประมูลได้รับสิทธิในการประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ทุกประเภท ยกเว้นการดำเนินการในกิจการร้านค้าปลอดอากร การบริการกิจกรรมการโฆษณา และกิจกรรมการให้บริการด้านการขนส่งแก่ผู้โดยสารท่าอากาศยาน เช่น รถแท็กซี่ รถบัส หรือรถลีมูซีน เป็นต้น เมื่อเดือนมีนาคม 2548 ซึ่งเอกสารประกอบสัญญา (Business Proposal) ได้ระบุให้ Pick up Counter เป็นกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่ผู้ชนะการประมูลจะดำเนินการภายใต้สัญญา โดยอายุสัญญาของ ทสภ.ดังกล่าวจะครบกำหนดในวันที่ 27 กันยายน 2563
สำหรับ ทดม.ได้มีการประมูลในเดือนสิงหาคม 2555 โดยในขณะนั้น กิจกรรม Pick up Counter เริ่มเป็นที่สนใจสำหรับผู้ประกอบการ ทอท.จึงได้มีการประมูล Pick up Counter ควบคู่กับร้านค้าปลอดอากรภายในทดม.โดยอายุสัญญาของ ทดม.จะหมดอายุสัญญาในวันที่ 30 กันยายน 2565
และเมื่อเดือนมีนาคม 2558 คณะกรรมการ ทอท.ชุดปัจจุบันได้เล็งเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางธุรกิจโดยได้มีผู้สนใจทำการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรภายในเมืองมากขึ้น การประมูล Pick up Counter ที่ ทภก.จึงเป็นการให้สิทธิการให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากรแบบเคาน์เตอร์ที่ผู้ประกอบการหลายรายสามารถใช้ร่วมกันเพื่อส่งมอบ สินค้า (Common Use) โดยมีอายุสัญญา 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ ทอท.มีหนังสือแจ้งผู้ประกอบการให้เข้าเริ่มประกอบการ
สำหรับกรณีที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการให้สิทธิการให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากรของท่าอากาศยานบางแห่งในลักษณะผูกขาดนั้น ทอท.ได้ชี้แจงให้คณะกรรมการ ทอท.ทราบว่า เป็นการดำเนินการตามเงื่อนไขสัญญาที่ทำไว้กับคู่สัญญา หากมีการละเมิดเงื่อนไขสัญญา อาจสร้างความเสียหายให้แก่ ทอท.และผู้ถือหุ้นจากการถูกฟ้องร้อง และที่สำคัญที่สุดคือความน่าเชื่อถือของสัญญาต่างๆ ที่ ทอท.ได้ทำไว้จะขาดความน่าเชื่อถือขึ้นมาโดยทันที และอาจลุกลามไปถึงสัญญาทั้งหมดของภาครัฐที่ทำไว้ เพราะ ทอท.ถือเป็นหน่วยงานของรัฐหน่วยงานหนึ่ง ถึงแม้จะอยู่ในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจก็ตาม