"ปี 59 คาดว่าปริมาณขายจะโตได้ 5-10% แต่รายได้ขึ้นอยู่กับราคา ซึ่งตอนนี้ราคาวัตถุดิบลดลง แต่ในส่วนของกำไรสุทธิเมื่อต้นทุนต่ำ bottom line ก็จะดีขึ้น สำหรับสาเหตุที่ปีนี้ปริมาณจะขายเพิ่มขึ้น เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาราคาหนังซึ่งเป็นวัตถุดิบสูง และเศรษฐกิจยุโรปไม่ดี ทำให้ปริมาณการใช้หนังน้อยลง คนหันไปใช้รองเท้าหนังเทียมมากขึ้น แต่ปีนี้เมื่อราคาหนังลดลง ปริมาณการใช้หนังก็จะเพิ่มมากกว่าปีที่ผ่านมา"นายภูวสิษฏ์ กล่าว
นายภูวสิษฏ์ กล่าวว่า ราคาวัตถุดิบคือหนังวัวนำเข้าปรับลดลงค่อนข้างมากอยู่ที่ 60-70 เหรียญสหรัฐ/ตัว จาก 2-3 ปีก่อน มีราคาอยู่ที่ 120 เหรียญสหรัฐ/ตัว เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าโภคภัฑณ์ (commodity) ทำให้ราคาหนังวัวปรับลดลงตามตลาด ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 10-13% และมีอัตรากำไรสุทธิ 3-5%
นอกจากนี้ โครงการร่วมทุน 40% กับพันธมิตรฮ่องกง เพื่อดำเนินธุรกิจศูนย์กระจายสินค้าสำหรับหนังทุกประเภท (Leather Platform Service) ในไทย โดยจะเป็นการซื้อมาขายไปหนังดิบและหนังกึ่งสำเร็จรูป (เทรดดิ้ง) ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ในเดือนเม.ย.-พ.ค.นี้นั้น จะทำให้มีเครือข่ายซัพพลายเออร์ที่แข็งแกร่ง ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการบริหารต้นทุนวัตถุดิบให้มีทางเลือกมากขึ้น โดยมองว่าจะช่วยทำให้ราคาวัตถุดิบจะลดลงได้ 100-200 ล้านบาท/ปี และสามารถบริหารวัตถุดิบได้ดีขึ้นจากปัจจุบันที่ต้องสต็อกวัตถุดิบหนังประมาณ 1 พันล้านบาท/ปี แต่เมื่อมีโครงการนี้ขึ้นมาทำให้ไม่ต้องสต็อกวัตถุดิบมากเหมือนเช่นกัน
สำหรับปริมาณการขายสินค้าในปีนี้ บริษัทตั้งเป้าปริมาณขายหนังฟอกในปีนี้จะอยู่ที่ 24 ล้านตารางฟุต จาก 22 ล้านตารางฟุตในปีก่อน โดยสินค้าราว 90% จะขายให้กับโรงงานผลิตรองเท้าแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง เช่น Timberland สัดส่วน 35-40% , Adidas และ Reebok สัดส่วน 25-30% ,Lacoste สัดส่วน 10% ,Dr.Martens ,Camper เป็นต้น โดยรวมมีฐานลูกค้าที่ทำรองเท้า 40-50 แบรนด์ ส่วนอีก 10% ขายให้กับอุตสาหกรรมฟอกหนังสำหรับสินค้าแฟชั่นอื่น ๆ
ทั้งนี้ บริษัทมีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และอินเดีย รวมถึงประเทศอื่นๆที่เป็นฐานการผลิตรองเท้าแบรนด์ชั้นนำดังกล่าว โดยปัจจุบันกำลังการผลิตหนังวัวฟอกสำเร็จรูปของบริษัทอยู่ที่ 2.7 ล้านตารางฟุต/เดือน ขณะที่ใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 2.5 ล้านตารางฟุต/เดือน คิดเป็นอัตราการใช้กำลังการผลิตราว 85%
นอกจากนี้บริษัทได้ซื้อที่ดินข้างโรงงานเดิมไว้ 30 ไร่ เพื่อสร้างอาคารโรงงานใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น รองรับการขยายงานในอนาคต ในปีนี้บริษัทได้จัดทัพใหม่ด้วยการเพิ่มทีมการตลาดและทีมขาย จัดกิจกรรมโรดโชว์พบปะลูกค้าอย่างต่อเนื่อง และหาออเดอร์ที่เป็นสินค้าพวกเฟอร์นิเจอร์ กระเป๋าที่ใช้หนังเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากลูกค้าที่เป็นแบรนด์รองเท้าอย่างเดียว ขณะที่อุตสาหกรรมฟอกหนังในไทยมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 600 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี โดยบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดราว 10-12% ของมูลค่าตลาดฟอกหนังในไทย
นายภูวสิษฏ์ กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่มวงษ์เจริญสิน ถือหุ้นใน CPL สัดส่วน 50% โดยกลุ่มวงษ์เจริญสินเตรียมปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ของกลุ่มซึ่งมีส่วนงานธุรกิจอื่นๆอยู่ด้วย เช่น อสังหาริมทรัพย์ เคมีภัณฑ์ พลาสติก รองเท้านิรภัย ซึ่งเชื่อว่าหลังปรับโครงสร้างแล้วจะทำให้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้เกื้อหนุนธุรกิจของ CPL ได้มากขึ้น แต่การปรับโครงสร้างครั้งนี้ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจของ CPL แต่อย่างใด
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 58 บริษัทคาดว่าจะมีรายได้เติบโต 5-10% จากปี 57 ที่รายได้รวมอยู่ที่ 2.3 พันล้านบาท ขณะที่ 9 เดือนแรกปี 58 มีรายได้แล้ว 1.8 พันล้านบาท ขณะที่ปัจุจบันบริษัทไม่มีหนี้ระยะยาว มีแต่หนี้การค้า และมีกระแสเงินสดเพียงพอในการดำเนินธุรกิจทุกปี รวมถึงมีการจ่ายปันผลในอัตราที่สูงกว่านโยบายด้วย