CK คาดรบ.ลาวสรุปให้สิทธิประโยชน์ชดเชยลงทุนเพิ่มโครงการไซยะบุรีใน H1/59

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 18, 2016 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเสริฐ มริตตนะพร กรรมการบริหารและผู้บริหารอาวุโส บมจ.ช.การช่าง (CK) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัท ไซยะบุรีพาวเวอร์ ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม CK จะลงทุนเพิ่มอีก 20,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ในลาว สำหรับส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น บันไดปลา ทางเรือผ่าน การระบายตะกอนดิน โครงสร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหว ฯลฯ เพื่อให้โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี มีความสมบูรณ์พร้อมในทุกๆด้าน และเป็นโครงการที่ดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างดีเยี่ยม ตามที่รัฐบาลลาวและคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง ต้องการที่จะปรับปรุงการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของโครงการให้เป็นโครงการตัวอย่างที่เป็นเลิศบนแม่น้ำโขง (Excellent Project) ทั้งนี้ บริษัท ไซยะบุรีพาวเวอร์ จะว่าจ้าง CK ซึ่งเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างในโครงการนี้ต่อไป

ทั้งนี้ ต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นนี้ รัฐบาลลาวจะมีการปรับสัญญาสัมปทานเพื่อให้สิทธิประโยชน์เพิ่มและชดเชยแก่บริษัท ไซยะบุรีพาวเวอร์ เพื่อให้โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี มีผลตอบแทนการลงทุนที่เป็นไปตามเป้าหมาย สิทธิประโยชน์เหล่านี้ได้แก่ ภาษี ค่าธรรมเนียม ระยะเวลาสัมปทาน เป็นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลลาวและทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในครึ่งแรกของปี 59

อนึ่ง โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีและโรงไฟฟ้าไซยะบุรี มีมูลค่าโครงการ 7.6 หมื่นล้านบาท โดยผู้ถือหุ้นหลักได้แก่ บมจ.ซีเคพาวเวอร์ (CKP) ถือหุ้น 30% กลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) ผ่านบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ถือ 25% บมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ถือ 12.5% รัฐบาลลาว โดย EDL ถือ 20% ,บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ถือ 7.5%

นายประเสริฐ คาดว่าโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี จะทำรายได้ปีละประมาณ 15,000 ล้านบาท จากกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 7,200 กิกะวัตต์-ชั่วโมง/ปี ขายไฟกลับมาที่ประเทศไทย 95% ตลอดอายุสัญญา 29 ปี ซึ่งจะมีการขยายอายุสัญญาอีก โดยปัจจุบันงานก่อสร้างก้าวหน้า 60% เร็วกว่าแผน 5-10% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 62

"ไม่ใช่งบบานปลาย แต่ที่ลงทุนเพิ่มเพราะรัฐบาลลาวและคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขงต้องการให้เป็นโครงการที่ดูแลสิ่งแวดล้อมดีที่สุด ช.การช่างเราก็ได้งานเพิ่มเติม ทำให้รัฐบาลลาวจะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม...งานก่อสร้างไซยะบุรีน่าจะเสร็จก่อนเวลาที่เสร็จในปี 2562" นายประเสริฐ กล่าว

*ปี 59 คาดได้งานใหม่ราว 6 หมื่นลบ.

นายประเสริฐ คาดว่ารายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในปี 59 จะทำได้อย่างน้อย 30,000 ล้านบาท จากปี 58 ที่คาดว่าจะมีรายได้ 35,000 ล้านบาท โดยเป็นการรับรู้จากงานในมือ (Backlog) ที่มีอยู่ 90,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 58 และรักษาอัตรากำไรขั้นต้นที่ระดับ 8-9% แต่ปีนี้คาดว่ากำไรจะดีกว่าปีที่แล้ว เพราะปีนี้บริษัทจะรับรู้กำไรจากบริษัทในกลุ่มอย่างเต็มที่หลังจากที่เข้าถือหุ้นเกิน 20% ได้แก่ BEM ,CKP และบมจ.ทีทีดับบลิว (TTW) รวมทั้งยังได้รับเงินปันผลด้วยซึ่งน่าจะใกล้เคียงปีก่อนที่คาดว่าจะได้รับเงินปันผลจากบริษัทย่อย จำนวนรวม 600 ล้านบาท

ด้านนายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานปฏิบัติการ ของ CK กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทคาดว่าจะได้รับงานใหม่ประมาณ 60,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ได้รับงาน 26,000 ล้านบาท โดยคาดว่าบริษัทจะได้รับงาน 1 ใน 4 จากการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี มูลค่างาน 70,000-80,000 ล้านบาท และงานติดตั้งระบบเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท และงานเพิ่มเติมของโครงการไซยะบุรีอีก 20,000 ล้านบาท

ในส่วนการเจรจาเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง–บางแค และบางซื่อ– ท่าพระ นายพงษ์สฤษดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เปลี่ยนรูปแบบการลงทุนเป็นแบบ Net Cost คือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน จากเดิมที่มีมติคณะรัฐมตรี (ครม.) ใช้รูปแบบ Gross Cost ที่รัฐลงทุนเอง ดังนั้น จะต้องให้ยกเลิกมติครม.เดิม และเจรจาตรงกับผู้เดินรถเดิมคือ BEM (เดิมบมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ (BECL)) ตามที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้ความเห็น โดยจะดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯปี 56 และให้เข้าเป็นโครงการพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) จากนั้นจะจัดตั้งคณะกรรมการมาตรา 13 มาเจรจากับ BEM ทั้งนี้คาดว่าจะได้ข้อยุติภายในครึ่งแรกปี 59

ส่วนการเดินรถไฟฟ้าจากสถานีบางซื่อถึงสถานีเตาปูน 1 สถานีนั้น บริษัทได้เจรจากับรฟม.แล้วว่า จะรับจ้างเดินรถชั่วคราว 2 ปี จากเดิมเสนอรับจ้าง 1 ปี ซึ่งกลุ่ม CK จะลงทุนระบบติดตั้งการเดินรถให้ก่อน วงเงิน 600 ล้านบาทและใช้เวลาติตตั้งระบบเดินรถ 15 เดือน และได้รับเงินค่าจ้างเดินรถปีละ 50 ล้านบาท โดยหาก BEM ได้เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จะนำเงินลงทุนส่วนนี้รวมในเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายด้วย และจะสั่งซื้อรถไฟฟ้ารองรับเส้นนี้ประมาณ 28 ขบวน แต่ถ้าไม่ได้เดินรถรัฐบาลจะต้องจ่ายคืน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ