ขณะที่การเสนอขายหุ้นของบริษัทย่อย บมจ.บ้านปูเพาเวอร์ (BPP) ให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) นั้น จะดำเนินการในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากปัจจัยเกื้อหนุนของตลาดทุน
"กระบวนการยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ของบ้านปูเพาเวอร์เดินหน้าตามแผนเรียบร้อยดี และบริษัทก็มีความพร้อมที่จะนำเข้าเทรดโดยพิจารณาถึงภาวะตลาดฯ ที่เหมาะสม ซึ่งเราไม่ได้รีบร้อน เพราะมองเป้าที่การพัฒนาศักยภาพของธุรกิจให้เติบโตอย่างเข้มแข็งในอนาคตมากกว่า"นางสมฤดี กล่าว
นางสมฤดี กล่าวว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้าคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย ลาว และจีน จะขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีที่ประมาณ 7% ขณะที่ตลาดการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นมีการเติบโตรวดเร็วที่สุดในเอเชียแปซิฟิก ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปีสูงกว่า 25% ดังนั้นบริษัทซึ่งมีข้อได้เปรียบด้านความชำนาญในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่จึงมีโอกาสอีกมากที่จะขยายธุรกิจไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วเอเชีย
โดยตามแผนตามแผนขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในหลายภูมิภาค คาดว่าภายในสิ้นปี 63 บ้านปูเพาเวอร์ จะสามารถขยายกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนเป็น 2,394 เมกะวัตต์ (MW) โดยโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง ในประเทศจีน กำลังผลิตติดตั้งรวม 1,320 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการและคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปลายปี 60 ขณะที่อีก 7 โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น รวมกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุน 54 เมกะวัตต์ จะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 59-61 ทั้งนี้ ภายในปี 68 คาดว่าบริษัทจะมีศักยภาพที่จะเพิ่มการลงทุนให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนที่ประมาณ 4,300 เมกะวัตต์ โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 20%
สำหรับธุรกิจถ่านหิน บริษัทยังคงเดินหน้ามาตรการควบคุมต้นทุนการผลิตและลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน พร้อมพัฒนาสินค้าคุณภาพสูงสำหรับตลาดพรีเมี่ยม เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน โดยในปี 59 บริษัทตั้งเป้าปริมาณการขายถ่านหินจากทั้งอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และจีน รวมที่ 44 ล้านตัน อีกทั้งยังมองจังหวะที่จะเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติมเพื่อเตรียมคว้าโอกาสเมื่อตลาดถ่านหินฟื้นตัว
"บ้านปูบ่มเพาะปรัญชาการทำงานที่พร้อมปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือกับความท้าทายทางธุรกิจ ผนวกกับนโยบายการบริหารงานเชิงรุกที่มุ่งสร้างกระแสเงินสดให้เป็นบวกอย่างต่อเนื่อง และฐานะทางการเงินที่มีสภาพคล่องสูง ซึ่งทำให้เราจ่ายปันผลได้อย่างสม่ำเสมอแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาตลาดโภคภัณฑ์จะมีความผันผวนมาก บริษัทเชื่อมั่นว่าด้วยฐานะทางการเงินและกระแสเงินสดที่มั่นคงจะส่งเสริมให้บริษัทก้าวสู่อีกขั้นของการเติบโต" นางสมฤดี กล่าว
นางสมฤดี กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายการลงทุนเพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและสมดุล โดยคำนึงถึงมิติด้านสิ่งแวดล้อม มิติด้านความมั่นคงทางพลังงานและการพัฒนาสังคม และมิติทางธุรกิจ ทั้งนี้ โครงการจำนวนมากที่ลงทุนไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาและอยู่ระหว่างการพัฒนารวมถึงโครงการที่บริษัทกำลังพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมทั้งในไทยและในต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น และจีน มุ่งเน้นที่พลังงานทดแทน ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติตามข้อตกลงจากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 (COP21) และยุทธศาสตร์ด้านพลังงานและการกระจายเชื้อเพลิงของประเทศต่างๆ
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 58 บริษัทมีปริมาณการขายถ่านหินรวมทั้งสิ้น 41.15 ล้านตัน ลดลง 7% เมื่อเทียบกับปี 57 โดยในจำนวนนี้ประกอบด้วยปริมาณการขายของเหมืองในประเทศออสเตรเลียที่ลดลง 2.47 ล้านตัน ขณะที่ปริมาณการขายของเหมืองในสาธารณรัฐอินโดนีเซียลดลง 0.82 ล้านตัน ราคาขายถ่านหินเฉลี่ยสำหรับปี 58 เท่ากับ 55.53 เหรียญสหรัฐ/ตัน ลดลง 15% เมื่อเทียบกับปี 57 ที่ 65.36 เหรียญสหรัฐ/ตัน
โดยในปี 58 บริษัทมีรายได้จากการขายรวมจำนวน 2,477 ล้านเหรียญสหรัฐ (เทียบเท่า 84,650 ล้านบาท) แบ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายถ่านหินจำนวน 2,285 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 92% ของรายได้จากการขายรวม และรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำ และอื่นๆ จำนวน 191 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 8% ด้วยนโยบายลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการลดอัตราส่วนการขุดขนดินต่อถ่านหิน 1 ตัน (Strip Ratio) จาก 9.76 มาอยู่ที่ 8.65 ผนวกกับการที่น้ำมันเชื้อเพลิงมีราคาลดลงตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลให้ต้นทุนขายรวมในปี 58 ลดลง 22% เมื่อเทียบกับปีก่อน มาอยู่ที่ 1,672 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยธุรกิจถ่านหินยังคงอัตรากำไรขั้นต้นที่ 32% ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้ามีอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 38% เนื่องจากการลดลงของราคาตลาดถ่านหิน ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลดลง
อนึ่ง ปีที่ผ่านมา บริษัทผลขาดทุนสุทธิ 43 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเท่า 1,534 ล้านบาท จากกำไรสุทธิ 83 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเท่า 2,695 ล้านบาท เป็นผลจากรายได้จากการขายลดลงมาก ตามปริมาณขายและราคาถ่านหินที่ลดลงต่อเนื่อง แม้จะมีต้นทุนเฉลี่ยต่อตันของเหมืองลดลงก็ตาม ขณะที่การรับรู้ผลกำไรของบริษัทร่วมและการร่วมค้าลดลง โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงของส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีที่หยุดซ่อมแซมหน่วยผลิตที่ 1 และ 2 รวมถึงยังรับรู้ส่วนแบ่งขาดทุนจากธุรกิจไฟฟ้าในลาว และการขาดทุนจากธุรกิจถ่านหินในจีน