ทั้งนี้ บริษัทโฮลดิ้งจะเพิ่มทุนจดทะเบียน และทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของ PS ทั้งหมดด้วยการแลกหุ้นในอัตรา 1 หุ้นสามัญ PS : 1 หุ้นสามัญที่ออกใหม่ของโฮลดิ้ง ซึ่งบริษัทจะขออนุมัติผู้ถือหุ้นเพื่อปรับโครงสร้างกิจการในวันที่ 28 เม.ย.59
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง บมจ.พฤกษา โฮลดิ้ง เพื่อขยายธุรกิจใหม่ๆ ที่สามารถสร้างรายได้ประจำ (Recurring income) ให้กับบริษัทเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ จากปัจจุบันบริษัทมีรายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์เพียงอย่างเดียว โดยบริษัทภายใต้โฮลดิ้งจะมีทั้งบริษัทที่ลงทุนเองและบริษัทร่วมทุน ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจนั้นๆทั้งในและต่างประเทศ แต่จะเน้นการลงทุนภายในประเทศเป็นหลัก
ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสในการลงทุนหลายธุรกิจทั้ง โรงพยาบาล โรงแรม โรงงานให้เช่า ห้างสรรพสินค้า และอาคารสำนักงาน ส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนนั้น บริษัทยังไม่สนใจลงทุน อย่างไรก็ตาม บริษัทคาดว่าจะเห็นความชัดเจนของการลงทุนในธุรกิจใหม่อย่างน้อย 1 ธุรกิจภายในปี 60 ซึ่งบริษัทได้วางงบลงทุนรวมในธุรกิจใหม่ราว 1.5 พันล้านบาท โดยจะใช้เงินสดในมือที่มีอยู่ราว 9 พันล้านบาทเป็นหลัก
บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ของ บมจ.พฤกษา โฮลดิ้งส์ ทั้งธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายและธุรกิจใหม่อื่นๆ แตะ 1 แสนล้านบาทภายในปี 63 จากปีนี้ที่ PS ตั้งเป้ารายได้ราว 5.2 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่ารายได้จากธุรกิจใหม่ที่เป็นรายได้ประจำจะเข้ามาเฉลี่ยปีละ 5,000-15,000 ล้านบาทตั้งแต่ปี 60 เป็นต้นไป จากนั้นภายใน 5-10 ปีข้างหน้า บริษัทคาดว่ามีสัดส่วนรายได้ของโฮลดิ้งจะแบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย 80% และธุรกิจอื่น 20%
"ธุรกิจใหม่ตอนนี้เราคุยอยู่เรื่อยๆ แต่เรื่องยังไม่ผ่านบอร์ด และยังไม่ชัดเจน จึงไม่สามารถพูดในรายละเอียดได้ แต่ต้องยอมรับว่ามีกลุ่มทุนที่เข้ามาใหม่ในธุรกิจอสังหาฯ อย่างเช่น กลุ่มเบียร์สิงห์ ทำให้เราต้องปรับตัว แม้เราจะครองมาร์เก็ตแชร์ในกรุงเทพฯและปริมณฑล แต่เรามองว่ามาร์เก็ตแชร์คอนโดฯ เราลดลงอย่างเห็นได้ชัดมาอยู่ที่ 5% สำหรับการปรับโครสร้างในครั้งนี้เรามีบริษัทที่ปรึกษาเข้ามาคุยกับเราตั้งแต่ตุลาฯที่ผ่านมาก็มีแมคเคนซี่ เป็นที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ให้เรา และบล.ภัทรเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้เรา"นายทองมา กล่าว
สำหรับเป้าหมายของ PS ในปีนี้ยังคงเดินหน้าตามแผนเดิม โดยตั้งเป้ารายได้ที่ 5.2 หมื่นล้านบาท และยอดพรีเซลล์ 5.1 หมื่นล้านบาท โดยวางแผนเปิดโครงการใหม่ 60-65 โครงการ มูลค่าโครงการรวม 5.5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีโครงการที่อยู่ระหว่างการขาย 173 โครงการ มูลค่ารวม 8.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่บริษัทมียอดขายรอโอน (Backlog) ราว 2.59 หมื่นล้านบาทที่จะรับรู้เป็นรายได้ภายในปีนี้ 1.52 หมื่นล้านบาท ส่วนงบซื้อที่ดินตั้งไว้ 1.4 หมื่นล้านบาท
กลยุทธ์การพัฒนาโครงการของบริษัทในปีนี้จะเน้นรอบธุรกิจให้สั้นลง โดยเฉพาะโครงการจัดสรรแนวราบ จากระยะเวลาจองถึงโอนเหลือเพียง 79 วัน จากปี 57 ที่ 87 วัน ทำให้เกิดการหมุนเวียนของทรัพย์สินที่รวดเร็ว และทำให้บริษัทมีรายได้เข้ามาเร็วขึ้น
นายทองมา กล่าวอีกว่า แนวโน้มของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯและปริมณฑลปีนี้คาดว่าโต 8% จากปี 58 มาอยู่ที่ 3.83 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปี 58 ที่โต 20% เนื่องจากปลายปี 58 ได้มาตรการรัฐกระตุ้นภาคอสังหาริมารัพย์จากรัฐบาลในช่วงปลายปี