"การบริการซื้อขายกองทุนรวมต่างประเทศนี้จะทำให้ลูกค้ารู้สถานการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศเกิดใหม่ทั่วโลก รวมถึงโอกาสในการลงทุนในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ในหลายสกุลเงิน รวมไปถึงการลงทุนในบริษัทชั้นนำระดับโลก ซึ่งเป็นการบริการสำหรับนักลงทุนรายย่อยผ่านธนาคารซิตี้แบงก์เป็นรายแรก"นางวีระอนงค์ กล่าว
เบื้องต้นธนาคารซิตี้แบงก์ได้ร่วมมือกับตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่เข้ามาร่วมในบริการซื้อขายกองทุนรวมในต่างประเทศ 5 ราย ได้แก่ BlackRock, Invesco, JPMorgan, UBS และ แอสเสท แมเนจเมนท์ โดยมีกองทุนรวมในเบื้องต้นที่เปิดให้ลูกค้าได้เลือกลงทุนจำนวน 19 กอง ซึ่งเป็นกองทุนที่มีผลการดำเนินงานที่ดีที่ธนาคารคัดสรรมาครอบคลุมกองทุนในแต่ละประเภท อย่างเช่น กองทุน Bond กองทุน Fixed income และกองทุน Equity
การให้บริการซื้อขายกองทุนรวมต่างประเทศนี้จะใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯในการซื้อขายกองทุน และการซื้อขายกองทุนของลูกค้านั้นการรายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ธนาคารจะเป็นผู้รายงานให้แทน ทั้งนี้ ธนาคารคาดว่าภายในเดือน มี.ค.59 จะสามารถทยอยนำกองทุนรวมจากพันธมิตรทั้ง 19 กอง ให้ลูกค้าได้สามารถซื้อขายได้
"ภาพรวมของการจัดสรรสินทรัพย์ในการลงทุนธนาคารมองว่าตลาดที่พัฒนาแล้วจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ และเชื่อวาตลาดเอเชียจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับในกลุ่มประเทศเกิดใหม่"นางวีระอนงค์ กล่าว
ด้านนายพอล โอเดส รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานลงทุนบุคคลธนกิจ ธนาคารซิตี้แบงก์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค กล่าวว่า ธนาคารมองว่าภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 59 จะเติบโตในระดับปานกลาง โดยคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นในเดือน มิ.ย.นี้ และเชื่อว่าจะไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 2 ครั้งในปีนี้ แต่แนวโน้มของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯยังแข็งค่ามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังจะต้องติดตามการเปลี่ยนถ่ายจากเศรษฐกิจเก่าไปสู่เศรษฐกิจใหม่ของจีนจะเกิดผลอย่างไรต่อการเติบโตของภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ โดยทางการจีนคาดว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้จะขยายตัวได้ 6-8% แต่ทางธนาคารมองว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะต่ำกว่าที่ทางการจีนคาดการณ์ไว้
"แม้ว่าสภาวะตลาดทางการเงินในปีนี้จะมีความผันผวน แต่ยังมีโอกาสสำหรับการลงทุน โดยจะต้องมีกลยุทธ์ที่ดีที่ช่วยให้การจัดการสินทรัพย์ในการลงทุนมีประสิทธิภาพและตามวัตถุประสงค์ รวมถึงต้องสามารถลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนและได้ผลตอบแทนที่เหมาะสม"นายพอล กล่าว
ปัจจุบัน ซิตี้แบงก์มีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคในปัจจุบันอยู่ที่ 220 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีลูกค้าทั้งหมดที่เป็นลูกค้า Citi Gold ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคที่มีเงินลงทุนตั้งแต่ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือตั้งแต่ 3 ล้านบาท จำนวน 500,000 ราย