แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและยุโรปในปี 59 คาดว่ายังคงมีการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเป็นการเติบโตอย่างช้าๆ โดยคาดว่า GDP ของประเทศญี่ปุ่นน่าจะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 1% ซึ่งปัจจัยบวกยังคงมาจากการดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยยังมีความคาดหมายว่าในปีนี้รัฐบาลญี่ปุ่นจะมีนโยบายออกมาเพิ่มเติม อาทิ การลดภาษีของบริษัทจดทะเบียนต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นการลงทุนของบริษัทเอกชน การปฏิรูปการบริหารและนโยบายบรรษัทภิบาลของบริษัทเอกชน การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติม นอกจากนี้คาดว่ายอดการใช้จ่ายภายในประเทศจะพุ่งสูงขึ้น หากรัฐบาลยังคงแผนการเพิ่มภาษีการบริโภคจาก 8% เป็น 10% ในเดือนเมษายนปี 2560
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังมีความเสี่ยงจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกรวมถึงจีน ผนวกกับการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนในช่วงนี้ ปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ตกต่ำเป็นตัวกดดันอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2% จึงมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก นอกจากนี้ตลาดเริ่มมีความกังวลต่อการดำเนินนโยบายทางการเงินของ BoJ ว่าอาจมีประสิทธิภาพน้อยลง โดยมองว่าการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบไม่น่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาดอกเบี้ยของญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว การลดดอกเบี้ยลงไปอีกอาจส่งผลในทางลบต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคธนาคารที่จะมีผลกำไรลดลง
ด้านเศรษฐกิจยุโรปในปีนี้คาดว่า GDP น่าจะเติบโตขึ้นกว่า 1% โดยเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะมาจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก เช่น ตัวเลขยอดค้าปลีกและการเติบโตของสินเชื่อมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากราคาน้ำมันและดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงจากตัวเลขการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศอื่นๆ รวมทั้งการลงคะแนนของประชาชนอังกฤษเรื่องการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในเดือนมิถุนายนปีนี้
นอกจากนี้ จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่มีมากขึ้น ประกอบกับภาวะกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อของยุโรปที่ยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) พร้อมที่จะใช้นโยบายทางการเงินเข้ามาช่วยเพิ่มเติมในการประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 มีนาคมนี้ ซึ่งมาตรการที่จะออกมาอาจเป็นในลักษณะของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือการเพิ่มวงเงินมาตรการ QE หรือแม้แต่การเร่งเข้าซื้อตราสารหนี้ให้เร็วขึ้นตามวงเงินเดิม ซึ่งไม่ว่าจะออกมาในลักษณะใด น่าจะส่งผลดีมากขึ้นต่อเศรษฐกิจของยุโรปที่ยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวต่อเนื่อง และจะช่วยทำให้ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม ECB ก็ต้องมีความระมัดระวังในการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมด้วยเช่นเดียวกัน เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินยูโรอาจไม่ได้เป็นปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการส่งออกตามที่คาดหวัง เพราะต้องคำนึงถึงอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่เศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะอ่อนแอด้วย รวมถึงอาจส่งผลเสียต่อภาคธนาคารในแง่ที่ทำให้ผลกำไรลดลง