(เพิ่มเติม) ตลท.นัดผู้เกี่ยวข้องแจงปรับเกณฑ์ IPO ช่วงต้น มี.ค.59 รื้อยก SET-mai

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 24, 2016 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.เตรียมนัดหารือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงเกณฑ์การรับหุ้นใหม่เข้าจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ (SET) และ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในช้วงต้นเดือน มี.ค.59 ระหว่างช่วงของการเปิดรับฟังความคิดเห็น 19 ก.พ.-18 มี.ค.นี้ ก่อนจะประกาศใช้เกณฑ์ใหม่ โดยเชื่อว่าการปรัยเกณฑ์ครั้งนี้จะไม่กระทบกับเป้าหมายมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (มาร์เก็ตแคป) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใหม่ที่ ตลท.ตั้งเป้าไว้ที่ 2.7 แสนล้านบาทในปีนี้

เกณฑ์ที่จะมีการปรับปรุงเบื้องต้น ได้แก่ ในส่วนของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนใน SET จะต้องมีทุนจดทะเบียนสูงกว่า 500 ล้านบาท จากเกณฑ์เดิมไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท โดยหากใช้เกณฑ์มาร์เก็ตแคปจะต้องมีมูลค่ามาร์เก็ตแคปไม่ต่ำกว่า 7,500 ล้านบาท จากเดิมไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท และยังจะต้องมีกำไรก่อนหักภาษีนิติบุคคล ดอกเบี้ย ค่าเสื่อม และค่าจัดจำหน่าย (EBITDA) ปีล่าสุด และรวมถึงมีกำไรสะสมของปีที่เข้าจดทะเบียนมากกว่าศูนย์ ขณะที่ผลการดำเนินงานย้อนหลังยังคงเดิม

ส่วนบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนใน mai จะต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท จากเดิมไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท และจะต้องมีส่วนทุนเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท จากเดิมไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท โดยหากใช้เกณฑ์มาร์เก็ตแคปก็จะต้องมีมูลค่ามาร์เก็ตแคปไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท จากเดิมไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท แต่หากใช้เกณฑ์กำไรก็จะต้องมีกำไรไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าศูนย์ เป็นต้น

นอกจากนี้บริษัท mai ต้องกระจายหุ้น หรือ ฟรีโฟลตขั้นต่ำ 25% จากเดิม 20% ยกเว้นในกรณีที่มีทุนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ต้องกระจายหุ้นขั้นต่ำ 20%

รวมทั้ง ตลท.ยังจะกำหนดราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) ขั้นต่ำที่ 0.50 บาท/หุ้น

"ถ้าย้อนไปดูบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีส่วนทุนรวมกันไอพีโอแล้ว ไม่มีใครต่ำกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเราได้ดูแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดวันนี้เป็นอย่างไร เราจึงเขียนออกมาให้เป็นเกณฑ์ให้ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ส่วน mai เดิมเราเขียนไว้ว่าต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท แต่ก็ไม่มีใคร 20 ล้านบาทเลย ต่ำสุดคือ 85 ล้านบาท นอกนั้นเกิน 100 ล้านบาท ซึ่งเกณฑ์ใหม่ที่ปรับยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อบริษัทที่อยู่อยู่แล้ว และแม้กระทั้งบริษัทที่อยู่ระหว่างที่จะเข้าจดทะเบียน โดยสามารถผ่านเกณฑ์เหล่านี้ได้ทั้งสิ้น"นางเกษรา กล่าว

ส่วนการกำหนดราคาพาร์ขั้นต่ำ ก็เพื่อให้บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนและบริษัทจดทะเบียนมีพาร์ที่เหมาะสม ไม่ใช้การแตกพาร์ในลักษณะที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ โดยบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนต้องมีพาร์ตั้งแต่ 0.50 บาทขึ้นไป

แต่หากบริษัทมีราคาตลาดอยู่ในระดับที่สูงตลอดระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งสะท้อนพื้นฐานของบริษัทที่มีการเติบโตขึ้น แต่ยังมีราคาพาร์อยู่ที่ระดับ 0.50 บาท สามารถทำการแตกพาร์ได้ อีกทั้งในกรณีบริษัทมีความประสงค์จัดโครงสร้างบริษัท ทำให้ต้องมีการลดพาร์ลงมาน้อยกว่า 0.50 บาทก็สามารถทำได้ แต่เป็นการชั่วคราว เมื่อดำเนินการจัดโครงสร้างแล้วเสร็จ ภายใน 12 เดือนบริษัทจะต้องแก้ไขพาร์กลับมาที่ราคาเดิม (เว้นจากเหตุของความจำเป็นนั้นยังไม่หมดไป)

“การกำหนดราคาพาร์ จะไม่มีผลย้อนหลังต่อบริษัทจดทะเบียนเดิม ซึ่งจะกำหนดใช้เฉพาะรายใหม่ที่จะเข้ามา หลังที่ประกาศมีผล โดยหากการเข้ามาในราคาพาร์ที่ 0.50 บาทจะไม่สามารถแตกพาร์ได้อีก แต่ถ้าสูงกว่านั้นก็ทำการแตกพาร์ได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 0.50 บาท"นางเกษรา กล่าว

นางเกษรา กล่าวว่า การปรับปรุงเกณฑ์ดังกล่าวจะสิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 18 มี.ค.59 จากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงจะสามารถประกาศใช้ได้ โดยในต้นเดือนมี.ค.นี้ ตลท.จะเรียกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholder) เช่น FA ,ผู้ลงทุน เป็นต้น เข้ามาหารือและรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การปรับเกณฑ์ IPO ครั้งนี้เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อบริษัทที่อยู่ระหว่างเข้ามาจดทะเบียน รวมทั้งเป้าหมายมาร์เก็ตแคป บจ.ใหม่ก็น่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ที่ 2.7 แสนล้านบาท

ส่วนการสนับสนุนกิจการประเภทสตาร์ทอัพ หรือ SMEs ที่ ตลท.ดำเนินการอยู่นั้น ก็จะยังคงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทที่ผ่านกระบวนการที่ได้รับการสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนมา (Venture capital) หากมีความต้องการระดมทุนในอนาคต ขณะนี้การเข้าจดทะเบียนในตลาด mai ยังใช้เกณฑ์เดิมที่มีทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท

“การที่เราทำเป็นการส่งสัญญาณให้กับบริษัทที่จะเข้ามาจดทะเบียน และให้นักลงทุนเห็นว่า ตลท.เป็นแหล่งระดมทุนที่ตอบโจทย์บริษัทขนาดกลางขนาดเล็ก และยกระดับคุณภาพบริษัทจดทะเบียนให้สูงขึ้น รวมถึงเพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์ฯมีความน่าสนใจมากขึ้น อีกทั้งเพื่อให้เกณฑ์ดังกล่าวมีความทันสมัย หลังจากไม่ได้มีการปรับมา 17 ปีแล้ว"นางเกษรา กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ