ปัจจุบัน บริษัท ไทย เพย์เมนต์ เน็ตเวิร์ก จำกัด มีผู้ถือหุ้น คือ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ถือหุ้นในสัดส่วน 50% และยูเนี่ยนเพย์ฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 50% ซึ่งหากธนาคารพาณิชย์ที่เป็นพันธมิตรทั้ง 3 ราย ตัดสินใจเข้ามาถือหุ้น BBL จะลดสัดส่วนการถือหุ้นลง
ทั้งนี้ TPN เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่มธนาคารไทยและยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนลของจีน จะทำหน้าที่ประมวลผลการชำระเงินในประเทศ ให้บริการสวิตช์ชิ่งข้อมูลสำหรับการชำระเงินผ่านบัตรเดบิตยูเนี่ยนเพย์ พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายระบบชำระเงินใหม่เพื่อรองรับการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย เพื่อตอบสนองนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่กำหนดให้บัตรเดบิตและบัตรเอทีเอ็มทุกใบต้องใช้มาตรฐานความปลอดภัยแบบ EMV Chip ภายในกลางปีนี้ และรายการที่ทำผ่านบัตรเดบิตที่ออกในประเทศทุกรายการต้องได้รับการประมวลผลในประเทศ
ส่วนเป้าหมายของบัตรเดบิต TPN ที่ร่วมกับยูเนี่ยนเพย์ในปีแรกตั้งเป้ามีจำนวนผู้ใช้บัตร 3-5 ล้านใบ (พ.ค. 59-เม.ย.60) ซึ่งคาดว่าจะเริ่มให้บริการในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยทางบริษัทหวังว่าจะสามารถทำให้สัดส่วนการใช้บัตรเดบิตในปีแรกหลังจากเปิดให้บริการของประเทศไทยเพิ่มเป็น 5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2% ซึ่งต่ำกว่าประเทศอื่น อย่างเช่น สหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนการใช้บัตรเดบิต 55% และประเทศจีนที่มีสัดส่วนการไช้บัตรเดบิต 45%
สำหรับจำนวนเครื่องรับบัตรในปัจจุบันมีอยู่ 300,000 เครื่อง ซึ่งในอนาคตจะมีการทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานของลูกค้า และทำให้สัดส่วนการใช้บัตรเดบิตเพิ่มขึ้นตามความคาดหวังของบริษัท ส่วนร้านค้าที่มีเครื่องรับบ่ตรอยู่แล้วหากประสงค์ต้องการรองรับระบบดังกล่าวได้สามารถติดต่อผ่านทางธนาคารได้ทันที
บัตรเดบิต TPN ที่ออกภายใต้แบรนด์ในประเทศ (local card scheme) จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่เจ้าของร้านค้าจะมีความเสี่ยงน้อยลงเพราะไม่ต้องเก็บเงินสดจำนวนมาก ลูกค้าก็ซื้อของและจ่ายเงินได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ในขณะที่รัฐบาลก็สามารถลดต้นทุนด้านการบริหารงานที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงิน และผู้ให้บริการด้านการเงินก็สามารถให้บริการอีเพย์เมนต์ด้วยราคาที่ถูกลง นอกจากนี้ เมื่อต้นทุนในการชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ถูกลง ลูกค้าก็สามารถชำระค่าสินค้าและบริการมูลค่าน้อยๆ ผ่านอีเพย์เมนต์ได้ และยังมั่นใจในความปลอดภัยของระบบ ‘Chip and PIN 6 หลัก’ ได้อย่างเต็มที่
"ธุรกรรมบัตรเดบิตคิดเป็นเพียง 2% ของมูลค่าการถอนเงินสดผ่านเครื่องเอทีเอ็มทั้งหมด ที่ผ่านมา ร้านค้าไม่มีแรงจูงใจรับบัตรเดบิต เนื่องจากค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมสูง และลูกค้าส่วนใหญ่ก็ไม่มีความมั่นใจในการใช้บัตร และกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของบัตรแม่เหล็ก ผมมั่นใจว่า ด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกลงมาก และมาตรฐานความปลอดภัยสูงด้วยระบบ ‘Chip and PIN 6’ บัตรเดบิต TPN จะได้รับความนิยมและใช้กันอย่างแพร่หลายในกลุ่มเจ้าของกิจการขนาดเล็ก ลูกค้าทั่วไป และธนาคารผู้ออกบัตร" นายโชค กล่าว
ด้านนายชาติศิริ โสภณพาณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ BBL กล่าวว่า ธนาคารยังไม่ห่วงในเรื่องหนี้เสียของระบบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันธนาคารมีการควบคุมและดูแลติดตามลูกค้าของธนาคารอย่างใกล้ชิด ซึ่งยังไม่เห็นสัญญาณหนี้เสียของธนาคารกรุงเทพจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามระบบ อีกทั้งแผนงานของธนาคารยังคงเป็นไปตามเดิมที่วางแผนไว้ และสินเชื่อของธนาคารในปี 59 ยังคงเป้าหมายสินเชื่อรวมเติบโต 3-5%