นอกจากนี้ยังได้รับประโยชน์จากราคายางพาราที่ตกต่ำ ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลงไปกว่าครึ่ง และบริษัทยังได้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นแต่จำนวนพนักงานยังเท่าเดิม ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงด้วย ขณะเดียวกันดอกเบี้ยจ่ายก็ลดลงมาค่อนข้างมาก
"การเพิ่มสัดส่วนรายได้ในผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปนั้น จะช่วยในเรื่องของการลดความผันผวนของวัตุดิบที่แกว่งตัวเป็น cycle ตลอด เมื่อขึ้นไปสูงจะมีการชะลอตัวลง โดยปกติรายได้หลักของบริษัทจะมาจากการขายแผ่นไม้เป็นหลัก ซึ่งผันผวนไม่ต่างจากการเป็น commodity ทำให้ในช่วง 2-3 ปี บริษัทได้เข้าสู่การทำผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป อาทิ ลามิเนต และปัจจุบันมีส่วนแบ่งทางการตลาดของลามิเนตไม่น้อยกว่า 70%"นายวรรธนะ กล่าว
นายวรรธนะ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการลงทุนในช่วงปี 59-60 ตั้งงบลงทุนไว้ที่ 500-600 ล้านบาท ซึ่งในปีนี้จะใช้งบลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อลงทุนในเครื่องจักร รองรับการขยายกำลังการผลิตสินค้าปลายน้ำ
สำหรับระยาวบริษัทตั้งเป้าที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไม่ต่ำกว่า 200 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมียังไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเลย และในอนาคตมีโอกาสที่จะนำธุรกิจพลังงาน ซึ่งอยู่ในบริษัทย่อยบริษัท วนชัย เอ็นเนอร์ยี่ อินดัสทรี่ส์ จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างรอดูการประกาศเงื่อนไขเรื่องใบอนุญาตผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ จากภาครัฐ ในโครงการพลังงานทดแทนชีวมวล ซึ่งบริษัทมีวัตถุดิบจากโรงงานที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ราว 605 ตัน/วัน สามารถใช้ผลิตไฟฟ้าได้ราว 20-25 เมกะวัตต์ และมีอีก 2 โรงงาน ที่จังหวัดชลบุรี และจังหวัดสระบุรี ซึ่งรวม 3 โรงงานสามารถใช้วัตถุดิบมาขยายกำลังการผลิตได้ถึง 100 เมกะวัตต์
นอกจากนี้บริษัทยังให้ความสนใจโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะ โดยประเมินว่าหากมีการลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ จะใช้งบลงทุนประมาณ 70 ล้านบาท/เมกะวัตต์ รวมถึงให้ความสนใจลงทุนในพลังงานทดแทนด้านอื่นๆเพิ่มเติมด้วย
ทั้งนี้ หลังจากที่บริษัทได้เข้าร่วมลงทุนเพิ่มสายการผลิตกับพันธมิตรจากใต้หวัน บริษัทก็ได้เริ่มธุรกิจให้เช่าคลังสินค้า โดยมีขนาดพื้นที่อยู่ประมาณ 6,000 ตารางเมตร ซึ่งปัจจุบันบริษัทเจรจาเพื่อดึงพันธมิตรจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ให้เข้ามาร่วมทุนเพื่อเพิ่มสายการผลิตในประเทศไทย เพื่อที่จะขยายธุรกิจเดิม และธุรกิจคลังสินค้า ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่บริษัทได้อย่างเป็นรูปธรรมเมื่อมีขนาดพื้นที่ให้เช่าไม่น้อยกว่า 50,000-100,000 ตารางเมตร
สำหรับความพร้อมด้านการลงทุนโครงการอนาคต บริษัทมีเงินสดอยู่ในมือประมาณ 2,000 ล้านบาท และมีอัตราหนี้สินต่อทุนที่ต่ำ (D/E) อยู่ที่ 0.83 เท่า ซึ่งถือว่าต่ำมาก และภายในปี 60 จะมีการชำระหนี้เงินกู้ ทำให้ D/E ปรับลดลงไปมากกว่านี้
"เรื่องพลังงานทดแทนต้องรอดูท่าทีจากภาครัฐ โดยจุดแข็งของบริษัทในการทำโรงไฟฟ้าชีวมวลคือการมีวัตถุดิบอยู่ในมือ ซึ่งถ้าภาครัฐเปิดโอกาสก็พร้อมจะเข้าไปลงทุน ตอนนี้รอใบอนุญาต PPA ขณะที่คลังสินค้า ตอนนี้มีอยู่ 6,000 ตารางเมตร ให้แก่พันธมิตรจากไต้หวัน โดยปัจจุบันเราก็มีการพูคุยกับพันธมิตรรายอื่นๆเข้ามา ซึ่งคลังสินค้าจะสร้างรายได้ให้แก่บริษัทอย่างเป็นรูปธรรม เมื่อมีขนาดพื้นที่ไม่น้อยกว่า 50,000-100,000 ตารางเมตร"นายวรรธนะ กล่าว
นายวรรธนะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันหลักทรัพย์ของบริษัทถูกนำมาคำนวณใน SET100 อีกครั้งในรอบ 10 ปี โดยตั้งเป้าว่าภายหลังปี 60 จะถูกยกระดับขึ้นมาอยู่ในกระดาน SET50 ได้ เมื่อแผนการปรับโครงสร้างรายได้แล้วเสร็จ มีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป 50% และผลิตวัตถุดิบแผ่นไม้ 50%
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อแปรสภาพบริษัทให้เป็นโฮลดิ้ง เนื่องจากปัจจุบันมีบริษัทย่อยอยู่ 5 บริษัท และอนาคตอาจจะมีการขยายธุรกิจใหม่ๆเพิ่มเติมเข้ามาอีกด้วย