นายนิตินัย กล่าวว่า ทอท.มีโครงการความร่วมมือระหว่าง ทอท.และท่าอากาศยานต่างประเทศในลักษณะ Sister Airport เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของทอท.ที่จะเป็นผู้ดำเนินการ และจัดการท่าอากาศยานที่ดีระดับโลก (AOT operates the world’s smartest airports) และยุทธศาสตร์ของ ทอท.ในด้านนโยบายการต่างประเทศ โดยมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยาน เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการร่วมมือกันอย่างฉันท์มิตรเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูล (Exchange of Information) การดำเนินโครงการร่วมกัน (Joint Work Activities) การตลาดและการส่งเสริมการขายร่วมกัน (Joint Marketing and Promotion) รวมถึงการจัดให้มีการประชุมร่วมกันเป็นประจำ (Regular Meeting)
ท่าอากาศยานนานาชาติเซี่ยงไฮ้ผู่ตงรองรับผู้โดยสาร 50 ล้านคนในปี 2557 และเป็นท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารหนาแน่นเป็นอันดับที่ 3 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีความสอดคล้องกับท่าอากาศยานภายใต้การบริหารงานของ ทอท. เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการกว่า 52 ล้านคนในปี 2558 โดยการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ทอท.หวังว่าโครงการและแผนการที่ทั้งสองหน่วยงานจะดำเนินการร่วมกันจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในด้านการบริหารจัดการท่าอากาศยาน การนำเทคโนโลยีมาใช้ และการวางแผนแม่บทพัฒนาท่าอากาศยาน รวมถึงยังเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศอีกด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทอท.ได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างท่าอากาศยานกับหน่วยงานหรือองค์กรที่ทำหน้าที่บริหารจัดการท่าอากาศยานนานาชาติจำนวน 9 องค์กร ใน 8 ประเทศ ครอบคลุมท่าอากาศยานนานาชาติ 14 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานมิวนิค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ,ท่าอากาศยานอินชอน สาธารณรัฐเกาหลี , ท่าอากาศยานนาริตะ ท่าอากาศยานคันไซและท่าอากาศยานโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น , ท่าอากาศยานออสติน-เบิร์กสตอร์ม มลรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ,ท่าอากาศยานนานาชาติหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว , ท่าอากาศยานปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ท่าอากาศยานเนปิดอว์และท่าอากาศยานย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ท่าอากาศยาน Tan Son Nhat International Airport ท่าอากาศยาน Noi Bai International Airport , ท่าอากาศยาน Danang International Airport และท่าอากาศยาน Phu Quoc International Airport สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม