ด้านสถานะทางการเงินของแกรมมี่ยังคงแข็งแกร่ง โดยปัจจุบัน อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Interest Bearing Debt to Equity) อยู่ที่ 0.80 เท่า
ขณะที่ผลประกอบการปี 58 บริษัท มีรายได้รวม 9,704 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มีผลขาดทุนสุทธิ 1,145 ล้านบาท ลดลง 53% จากปี 57 โดยในปี 58 มีรายการพิเศษซึ่งรับรู้เพียงครั้งเดียว ได้แก่ กำไรสุทธิจากการบริหารการลงทุน เช่น การขายหุ้นสามัญของ บมจ.ซีเอ็ดยูเคชั่น (SE-ED) การขายเงินลงทุนกลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์ การขายเงินลงทุนใน บมจ. อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ และการเปลี่ยนแปลงการจัดประเภทเงินลงทุนในบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด รวมจำนวน 959 ล้านบาทและการบันทึกค่าเผื่อการด้อยค่าเงินลงทุนใน บมจ. ซีทีเอช จำนวน 1,030 ล้านบาท ทั้งนี้ผลขาดทุนดังกล่าวเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสด จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของบริษัทฯ
ในด้านธุรกิจเพลง มีรายได้รวม 3,252 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.4% จากปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างธุรกิจเพลง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้เข้าถึงคอนเทนต์ได้อย่างทั่วถึง พร้อมสร้างการเติบโตให้กับทุกช่องทางรายได้ นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของธุรกิจโชว์บิซและการเติบโตของช่องทางออนไลน์ ทั้งการให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น Line และ YouTube ที่ช่องของแกรมมี่ติดอันดับ Top 100 ของโลกในแง่ยอดวิวถึง 2 ช่อง ได้แก่ ช่อง GMM GRAMMY Official ครองยอดวิวสูงสุดอันดับ 1 ในประเทศ และอันดับ 16 ของโลก ส่วนช่อง GENIEROCK ครองอันดับ 2 ของประเทศและอันดับ 77 ของโลก
ขณะที่ ธุรกิจดิจิทัลทีวี แม้ว่าจะต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน เช่น กฎระเบียบ การสนับสนุนจากภาครัฐ ที่ส่งผลต่อการใช้งบโฆษณา แต่กระแสความนิยมของช่อง One 31 และช่อง GMM 25 ก็เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยปี 2558 ช่อง One 31 มีการเติบโตทั้งด้านรายได้และเรทติ้งอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากความโดดเด่นด้านคอนเทนต์ โดยเฉพาะละครในช่วงไพร์มไทม์ ซิทคอมและรายการวาไรตี้ คาดว่าในปี 2559 ช่อง One 31 จะสร้างการเติบโตของรายได้ไม่น้อยกว่า 80%
ส่วนช่อง GMM 25 มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างเด่นชัดทั้งด้านรายได้และด้านการรับรู้ (Brand Awareness) โดยช่อง GMM 25 มีการปรับผังรายการ เพิ่มคอนเทนต์ที่แตกต่างหลากหลาย เพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นละครที่ได้รับความนิยมสูง อย่างเช่น Club Friday the Series นอกจากนี้ยังมีละครโปรเจคต์ใหญ่ อาทิ โอเนกาทีฟ และรายการวาไรตี้บันเทิง เช่น แฉ สมรภูมิพรมแดง และ M Countdown จากประเทศเกาหลี ตั้งเป้ารายได้เติบโตกว่าร้อยละ 85 และนอกจากโทรทัศน์ซึ่งเป็นช่องทางหลักแล้ว คอนเทนต์ของบริษัทฯ ยังปรากฎในช่องทางอื่น ๆ เช่น Line TV และ YouTube ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความได้เปรียบและความพร้อมต่อยอดสู่ทุกช่องทาง เพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจดิจิทัลทีวี
ส่วนธุรกิจอื่น อาทิ ธุรกิจโฮม ช้อปปิ้ง “O Shopping" มีการขยายตัวอย่างมาก โดยปี 2558 มีรายได้กว่า 1,738 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 53% จากจุดแข็ง ได้แก่ สินค้าที่แตกต่าง การจัดส่งสินค้าฟรีทั่วประเทศ และรูปแบบการออกอากาศ ทำให้ยอดขาย ณ สิ้นปี 2558 เพิ่มขึ้นมากกว่า 5.5 ล้านบาทต่อวัน และมีฐานลูกค้ากว่าเก้าแสนราย ส่วนธุรกิจภาพยนตร์ แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ แต่บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความสุขและความบันเทิงให้กับแฟนภาพยนตร์ ภายใต้ชื่อ บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด (GDH 559)