ในปีนี้การบินไทยจะเพิ่มรายได้ด้วยการขยายจำนวนผู้โดยสาร จากปีก่อนสายการบินไทยและสายการบินไทยสมายล์มีจำนวนผู้โดยสารรวม21.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 57 ที่มีจำนวนผู้โดยสารรวม 19.1 ล้านคน
นอกจากนั้น บริษัทยังมีแผนเปิดจุดบินใหม่ในอาเซียน 3-4 จุด ซึ่งเป็นเส้นทางที่ได้หารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของไทยและเตรียมกลับมาบินที่มอสโคว์ ประเทศรัสเซีย ในตารางการบินฤดูหนาว ที่จะเริ่มเดือนต.ค.59 รวมทั้งจะเพิ่มเส้นทางจุดบินที่จีน ที่จะใช้ทั้งสายการบินไทยและสายการบินไทยสมายล์ โดยจะใช้เครื่องบินที่มีอยู่เพื่อให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ในปี 60 การบินไทยมีแผนจะเปิดจุดบินในสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ใช่เมืองลอสแองเจลิสที่เคยยกเลิกเส้นทางบินไปก่อนหน้านี้ โดยการเปิดจุดบินใหม่ดังกล่าวขึ้นกับสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) จะปลดล็อกเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งทางอากาศของไทยเมื่อใด หลังจากที่ให้ไทยยังต้องปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบิน
ขณะเดียวกันการบินไทยก็จะต้องลดค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเสนอให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) อนุมัติ
"ปีนี้เรามองเป้าหมายสูงขึ้น ผมอยากเห็น Cabin Factor ที่ 80%. รวมกับสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ การลดเที่ยวบินจบแล้ว ต่อไปก็จะเข้าโหมดการขยายตัว เริ่มวางแผน เราดูจุดบินใหม่ที่มีศักยภาพที่ดี ก็ต้องดูเครื่องบินจะเอามาจากไหน จะได้วางตารางการบิน และจะเพิ่มได้กี่จุด...ในปีหน้าจะกลับมาขยายตัว มีแผนบินไปสหรัฐฯ ขึ้นกับ FAA แต่ย้ำไม่ใช่ LA ณ วันนี้เราเริ่มประเมินจะพยายามขยายฐาน"นายจรัมพร กล่าว
นายจรัมพร กล่าวว่า ปีนี้บริษัทได้วางงบประมาณสำหรับโครงการร่วมใจจากองค์กร(MSP) จำนวน 2,000 ล้านบาท จากปีก่อนใช้งบประมาณ 5,500 ล้านบาท ที่มีโครงการ MSP สำหรับพนักงานทั่วไปและโครงการ Golden Handshake สำหรับพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน เพื่อบริหารอัตรากำลังที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดเที่ยวบินและเส้นทางบิน ซึ่งจะส่งผลการปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนบุคคลากรและลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 1,401 คนซึ่งมีผลแล้วในปี 58 จำนวน 1,277 คน
ปีนี้บริษัทจะปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพการทำงานทั้ง 5 หน่วยงานคือครัวการบิน , บริการภาคพื้นและลานจอด ,บริการผู้โดยสาร ,ซ่อมบำรุง และคลังสินค้า(cargo)เพื่อให้มีมาตรฐานการทำงานเทียบกับเครื่องบินบริษัทคู่แข่งหรือในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ส่วนการรับมอบเครื่องบิน นายจรัมพร กล่าวว่า ตามแผนเดิมของบริษัทจะต้องรับมอบเครื่องบินใหม่ 14 ลำ คือในกลางปีนี้รับมอบ 2 ลำ เป็น แอร์บัส A350 และในปี 60 รับมอบ 7 ลำเป็นแอร์บัส A350 จำนวน 5 ลำ และโบอิ้ง B787 จำนวน 2 ลำ และในปี 61 รับมอบอีก 5 ลำ เป็นแอร์บัสA350 ทั้งหมด อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องการทบทวนแผนรับมอบเครื่องบินดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทผู้ผลิต เพราะบริษัทยังไม่ต้องการลงทุนเพิ่ม
ด้านนายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกข์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชี ของ THAI กล่าวว่า องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (IATA) ประเมินว่าการแข่งขันธุรกิจการบินในปีนี้จะแข่งขันกันอย่างมาก มีการตัดราคาต่อเนื่อง ทำให้คาดว่ากำไรต่อหน่วย (yield)ลดลง 5-8% ส่วนการบินไทยในปีที่แล้ว yield ก็ลดลง 7% เทียบกับปี 57 เพราะราคาน้ำมันลดลง จึงไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมน้ำมัน(Fuel Surcharge) และมีการแข่งขันสูง
ส่วนการตั้งลดค่าใช้จ่ายปีนี้คาดว่าไม่ถึง 10% จากปีก่อนที่ลดค่าใช้จ่าย 10% คิดเป็นเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยปีนี้ลดค่าใช้จ่ายยากขึ้น นอกจากนี้บริษัทยังมีเครื่องบินรอขาย 10 ลำ รวมถึงสินทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ ปี 58 บริษัทและบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 13,067 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีผลขาดทุนสุทธิ 15,611 ล้านบาท โดยเป็นผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 1,304 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายการดำเนินการตามแผนปฏิรูป 4,167 ล้านบาท และผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบิน 12,157 ล้านบาท ที่มาจากเครื่องบินแอร์บัส 10 ลำ คือ A340-500 จำนวน 4 ลำ A340-600 จำนวน 6 ลำ ขณะที่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 3,512 ล้านบาท
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 58 บริษัทและบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 302,471 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 57 จำนวน 4,796 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จากการด้อยค่าของเครื่องบิน หนี้สินรวมของบริษัทและบริษัทย่อย เท่ากับ 269,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,574 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 32,926 ล้านบาท ลดลง 8,370 ล้านบาท