(เพิ่มเติม1) TRUE รอฤกษ์จ่ายไลเซ่นส์ 900 MHZ งวดแรก 1-2 สัปดาห์นี้ มั่นใจปี 60 กำไร-จ่ายปันผลได้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 1, 2016 18:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กล่าวว่า บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (TUC) ในเครือ TRUE จะจ่ายเงินค่าใบอนุญาต 4G บนคลื่นความถี่ 900 MHz ในงวดแรก พร้อมวางแบงก์การันตีงวดที่เหลือได้ภายใน 1-2 สัปดาห์หลังเซ็นสัญญากับ 6 สถาบันการเงินเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินในวันนี้ โดยปฏิเสธว่าไม่ได้รอดูว่า บริษัท แจส โมบาย จำกัด จะสามารถชำระเงินได้หรือไม่ แต่ต้องการรอฤกษ์ดีเท่านั้น

วันนี้ TUC ลงนามกับ 6 สถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเกียรตินาคิน เพื่อออกหนังสือค้ำประกันวงเงินถึง 73,036.06 ล้านบาท โดยธนาคารไอซีบีซี (ไทย) เป็นผู้สนับสนุนวงเงินหนังสือค้ำประกันสูงสุดถึงเกือบ 50% ของมูลค่าวงเงินทั้งหมด เพื่อนำไปยื่นพร้อมการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 MHz งวดแรกเป็นเงิน 8,040 ล้านบาท ที่ TUC ชนะการประมูลเมื่อเดือน ธ.ค.58 ให้กับทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

นายศุภชัย กล่าวว่า บริษัทจะนำส่งเงินงวดแรกและหนังสือค้ำประกันฯให้กับกสทช. ภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยขอดูฤกษ์ก่อน และไม่เกี่ยวกับกรณีที่ บริษัท แจส โมบาย จำกัด ผู้ชนะประมูลคลื่นความถี่ 900MHz อีกราย ยังไม่มาชำระเงินค่าใบอนุญาตงวดแรก และหนังสือค้ำประกันแต่อย่างใด เพราะกสทช.ระบุไว้ชัดเจนว่าหากมีการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ใหม่จะเปิดกว้างให้กลุ่มTRUE เข้าประมูลได้ และ จะจัดประมูลใน 2-3 เดือนข้างหน้า

ดังนั้น หากแจสโมบายไม่มาชำระเงินค่าใบอนุญาตฯ และราคาประมูลเริ่มต้นที่ 7.5 หมื่นล้านบาทที่แจสโมบายประมูลได้ และหากไม่มีรายใดมาประมูล กสทช.จะไม่เปิดประมูลอีก 1 ปี ดังนั้น บริษัทเห็นว่าความเสี่ยงเรื่องนี้ได้ลดลงไป

นายศุภชัย กล่าวว่า ในปี 60 บริษัทจะสามารถทำกำไรและจ่ายเงินปันผลได้ หลังจากปีนี้ยังมีความไม่แน่นอน เพราะต้องรับภาระการลงทุนโครงข่ายจำนวนมาก โดยเฉพาะการให้บริการ 4G ทำให้มีภาระต้นทุนสูง ส่วนอัตราการเติบโตรายได้ปีนี้คาดว่าจะรักษาให้ใกล้เคียงหรือมากกว่าปีก่อนที่มีการเติบโต 17.3%

ทั้งนี้ บริษัทตั้งป้าในช่วง 3 ปี(ปี 59-61) จะมีรายได้จากส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)สัดส่วน 33% ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ หรือประมาณ 33% จากปัจจุบันอยู่ที่ 21% และมี EBITDA Margin ไม่ต่ำกว่า 40% จาก 30% ในปัจจุบัน ขณะที่ตั้งงบลงทุนวางโครงข่ายโทรศัพท์มือถือ 5.7 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 ปีนี้

ในปีนี้บริษัทจะใช้เงินลงทุนถึง 4 หมี่นล้านบาท เพื่อวางโครงข่ายคลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 3.6 หมื่นล้านบาท โดยจะติดตั้งอุปกรณ์เพื่อรองรับทุกระบบ 2G, 3G และ 4G ได้ 1.6 หมี่นสถานีฐานภายในเดือน พ.ค. 59 และเพิ่มเป็น 20,000 สถานีฐานภายในปลายปี 59 ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนโครงข่ายคลื่นความถี่ 1800 MHz ระบบ 4G โดยติดตั้ง 6,000 สถานีฐานภายใน พ.ค.59

สำหรับแหล่งเงินลงทุนมาจากการได้ Vender Financing จากซัพพลายเออร์ 3 รายคือ หัวเหว่ย อิริคสัน และ ZTE ที่ให้เงื่อนไขค่อนข้างดีมากและทำให้ราคาต้นทุนอุปกรณ์ถูก เพราะไชน่า โมบาย ผู้ถือหุ้นใหญ่ใน TRUE (ถือ 18%) ให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากที่ไชน่า โมบาย เป็นผู้วางโครงข่ายใหญ่ที่สุดกว่า 1.5 ล้านสถานีฐานในจีน

ปัจจุบันบริษัทมีโครงข่ายคลื่น 1800 MHz ที่เป็นระบบ 2G จำนวน 7,400 สถานีฐาน โครงข่ายคลื่น 850 MHz จำนวน 16,000 สถานีฐาน โครงข่ายคลื่นความถี่ 2100 MHz จำนวน 11,000 สถานีฐาน

“การมีคลื่นความถี่ที่พร้อม และได้รับการสนับสนุนการเงินพร้อม ทำให้บริษัทมีศักยภาพ และสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้ ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เรามีทั้งคลื่นความถี่สูงและคลื่นความถี่ต่ำ ทำให้โครงข่ายของเรามีประสิทธิภาพสูงสุด"นายศุภชัย กล่าว

นายศุภชัย กล่าว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กลุ่ม TRUE เติบโตต่อเนื่ออง มีศักยภาพ งานด้านการขาย การให้บริการหลังการขาย ระบบบิลลิ่ง และกลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์ ได้ครบถ้วน เพื่อรองรับไลฟสไตล์ที่ต้องการความสะดวกสบาย และเข้าสู่ยุค Digital Economy และเมื่อบริษัทมีข้อมูลลูกค้าจะมีข้อมูลมากขึ้นที่พร้อมจะตอบสนองลูกค้าดีขึ้นเรื่อยๆ สำหรับภาพรวมตลาดปีนี้จะเห็นการแข่งขันเต็มที่ของทุกค่าย โดยเฉพาะ 4Gและราคาจะถูกลง การตัดราคาเป็นไปตามต้นทุน

ด้านนายนพปฎล เดชอุดม หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มด้านการเงิน TRUE กล่าวว่า บริษัทจะทำกำไรได้ต้องมี กำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) สูงกว่า 7 พันล้านบาท เพราะบริษัทมีภาระที่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาต รวม 7 พันล้านบาท/ปี โดยเป็นใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2100 MHz, 1800 MHz และ 900 MHz โดยปัจจุบัน TRUE มีคลื่นความถี่ 55 MHz และคาดว่าในสิ้นปี 59 TRUEจะสามารถแซงขึ้นเป็นอันดับ 2 แทนที่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมิวนิเคชั่น (DTAC)

สำหรับการเปลี่ยนการเพิ่มทุนเป็นการออกใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้ (TSR) เพราะบริษัทต้องการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ถือหุ้นโดยหากผู้ถือหุ้นรายใดไม่ต้องการซื้อหุ้นเพิ่มทุน ก็สามารถนำ TSR ขายออกผ่านตลาดหลักทรัพย์ โดยคาดว่า TSR ของบริษัทจะเริ่มซื้อขายในตลาดได้ประมาณกลางเดือน พ.ค.นี้ และมีระยะเวลาซื้อขายประมาณ 1 สัปดาห์ ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะได้เงินครบตามจำนวน 6 หมื่นล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ