ทั้งนี้ ในปี 58 บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 21,425.8 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน 4% ในขณะที่ผลกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ 1,841.7 ล้านบาท และ EBITDA margin ที่ 9% อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นไปตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ซึ่งจำเป็นต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส และใช้ความระมัดระวังรอบคอบในการจัดทำรายงานทางบัญชี บริษัทฯ จึงได้บันทึกรายการด้อยค่าที่มีสาระสำคัญและตั้งสำรองบางรายการ ส่งผลให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิทั้งสิ้น 11,335.1 ล้านบาท ขณะที่ผลขาดทุนที่เกิดจากการดำเนินงานจริงอยู่เพียงแค่ 256.3 ล้านบาทเท่านั้น
ทั้งนี้ การตั้งด้อยค่าฯ ดังกล่าวเป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชีที่ไม่ใช่เงินสดเท่านั้น จึงไม่ส่งผลกระทบต่อ สถานะทางการเงินของบริษัทฯ โดยบนงบดุล ณ สิ้นปี 58 บริษัทฯ ยังคงมีเงินสดที่เกิดจากการดำเนินงาน 635.5 ล้านบาท รวมถึงมูลค่าเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นรวมกันกว่า 13,423 ล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่า 7.37 บาทต่อหุ้น
นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TTA เปิดเผยว่า ปี 58 เป็นปีที่บริษัทฯ เผชิญวิกฤตอย่างรุนแรงจากสภาวะความผันผวนอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมน้ำมัน เดินเรือ และถ่านหิน ซึ่งมีแนวโน้มว่า ตลาดจะทรงตัวเช่นนี้ไปจนถึงปี 60 ดังนั้น หลังจากพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว บริษัทจำเป็นที่จะต้องบันทึกรายการพิเศษฯ ดังกล่าว เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น และเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีและการตรวจสอบทางการเงินที่ดี
"ผลขาดทุนที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องทางบัญชีเท่านั้น แต่ไม่มีผลต่อสถานะทางการเงินที่ยังคงแข็งแกร่งในระดับเกินหมื่นล้านบาท โดยเราจะมีงบดุลที่สามารถสะท้อนภาพที่การดำเนินงานแท้จริง ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เราทำผลงานในปี 59 ได้ดีขึ้น"นายเฉลิมชัย กล่าว
TTA ได้วางแผนรับมือกับช่วงขาลงของวัฏจักร ซึ่งสะท้อนผ่านผลงานของโทรีเซน ชิปปิ้ง และเมอร์เมดที่ออกมาดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมโดยรวม แต่ยังไม่สามารถต้านทานกระแสการปรับตัวอย่างรุนแรงของตลาดได้ โดยค่าเฉลี่ยของดัชนี BDI ได้ตกลงมาอยู่ที่ 718 จุด หรือลดลง 35% จากค่าเฉลี่ยที่ 1,105 จุดของปี 57 ซึ่งแย่ที่สุดในรอบ 30 ปี
ขณะที่ราคาน้ำมันก็ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากระดับที่สูงกว่า 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อกลางปี 2557 มาอยู่ที่ระดับ 30 เหรียญสหรัฐเมื่อปลายปี 58 อย่างไรก็ดี ธุรกิจปุ๋ยของ บมจ.พีเอ็ม โทรีเซน เอเชีย โฮลดิ้งส์ (PMTA) ยังคงมีส่วนแบ่งกำไรที่ดีให้ TTA และเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่า การดำเนินกลยุทธ์การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงของบริษัทฯ เป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว
ผลการดำเนินงานของแต่ละธุรกิจ โทรีเซน ชิปปิ้ง ยังสามารถรักษาอัตราค่าระวางเรือเฉลี่ย (TCE) ทั้งปีไว้ได้ที่ 7,507 เหรียญสหรัฐต่อวัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ BSI ที่ 6,154 เหรียญสหรัฐต่อวันหรือราวๆ 22% ทำให้ EBITDA เป็นบวกที่ 573.2 ล้านบาท ดังนั้น หากไม่รวมการบันทึกรายการด้อยค่าสินทรัพย์ที่เป็นกองเรือ (non-cash impairment) ประมาณ 4,700 ล้านบาทแล้ว โทรีเซน ชิปปิ้ง มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิเพียง 128.8 ล้านบาท
กลุ่มเมอร์เมดยังสามารถทำรายได้รวมเพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อนมาอยู่ที่ 11,527.3 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากธุรกิจใหม่คือธุรกิจวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเล และบริการวิศวกรรมใต้ทะเลประเภทอื่นๆ (ที่ไม่ใช่บริการเรือสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน) โดยรายได้จากธุรกิจส่วนนี้คิดเป็น 33% จากรายได้รวมทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องหลักความโปร่งใสและเป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีที่ดี เมอร์เมดได้ บันทึกรายการด้อยค่าสินทรัพย์และการตั้งสำรองที่ไม่ใช่เงินสดหลายรายการเป็นจำนวน 8,235.6 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้เมอร์เมดมีผลขาดทุนสุทธิ 8,182.2 ล้านบาท แต่มีผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงานให้ TTA ที่ 76.8 ล้านบาท
PMTA ยังทำกำไรให้กับ TTA ได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้จากการขายปุ๋ยเพิ่มขึ้น 6% จาก 3,088 ในปีก่อนมาเป็น 3,258.5 ล้านบาท แม้ว่าต้องประสบปัญหาภาวะฝนแล้งต่อเนื่องจนส่งผลกระทบต่อยอดการอุปโภคปุ๋ยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในขณะที่รายได้จากการให้เช่าพื้นที่โรงงานเพื่อเก็บสินค้า เติบโตจาก 32.1 ล้านบาท มาเป็น 49.1 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 53% ทั้งนี้ PMTA มีผลกำไรสุทธิสำหรับปี 58 ทั้งสิ้น 233 ล้านบาท
ผลขาดทุนของ บมจ.ยูนิค ไมนิ่ง เซอร์วิสเซส เพิ่มขึ้นเป็น 371.2 ล้านบาทเมื่อเทียบกับขาดทุน 118.9 ล้านบาทเมื่อปี 57 ซึ่งผลการดำเนินงานที่ลดลงส่วนใหญ่เป็นผลมาจาก ยอดขายถ่านหินลดลง และการบันทึกรายการพิเศษทางบัญชีที่ไม่ใช่เงินสดที่เป็นการตั้งด้อยค่าและตั้งสำรองจำนวน 271.1 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย มูลค่าของสินค้าคงคลัง เครื่องจักร อาคาร และการลงทุนในบริษัทย่อย