สำหรับปีนี้ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรถยนต์ขยายตัว 8% จากปี 58 ที่หดตัวลงไป 5-6% จากสินเชื่อคงค้างที่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อยู่ที่ 3.5 แสนล้านบาท ณ สิ้นปี 58 แบ่งเป็นสินเชื่อรถใหม่ 70% และสินเชื่อรถเก่า 30% โดยในกลุ่มนี้ธนาคารมีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 2.3% ซึ่งหากมีการใช้ระบบคัดกรองงใหม่ธนาคารก็เชื่อว่าจะสามารถลด NPL ลงได้อย่างต่อเนื่อง
ด้านสินเชื่อเอสเอ็มอีของธนาคารปีนี้ตั้งเป้าเติบโต 12-13% จากสินเชื่อคงค้างสิ้นปี 58 อยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อรายใหญ่ปีนี้เติบโต 3-4% จากสินเชื่อคงค้างสิ้นปี 58 อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท ส่วนสินเชื่อรายย่อยปีนี้เติบโต 5-6% โดยแบ่งเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัยเติบโต 8% บัตรเครดิตโต 5% และสินเชื่อส่วนบุคคลโต 5%
ส่วนการรักษาสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารในปี 59 จะพยายามควบคุมไม่ให้เกิน 3% จากสิ้นปี 58 อยู่ที่ 2.8-2.9%
"เรามั่นใจว่าผลการดำเนินงานของธนคารปีนี้จะดีกว่าปี 58 ที่ทำได้ 1.07 หมื่นล้านบาท โดยมาจากการตั้งสำรองที่ลดลง ซึ่งปัจจุบันธนาคาร Coverage Ratio อยู่ที่ 119.42% ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 57 ที่ 85.52% และเงินกองทุนของธนาคารก็ยังถือว่ามีความแข็งแกร่ง และเติบโตขึ้นมาอยู่ที่ 17.92% ในปัจจุบัล จากสิ้นปีที่แล้วอยู่ที่ 15.83% ทำให้เราสามารถรองรับการเติบโตของธนาคารต่อไปในอนาคตได้อย่างมั่นคง โดยไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนแต่อย่างใด"นายสมเจตน์ กล่าว
สำหรับเรื่องเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เริ่มกำหนดใช้หลักเกณฑ์การดำรงสภาพคล่องใหม่ที่เรียกว่า Liquidity Coverage Ratio (LCR)โดยธนาคารพาณิชย์ต้องเริ่มดำรงเกณฑ์สินทรัพย์สภาพคล่องขั้นต่ำที่ระดับ 60% ในปี 59 จากนั้นจึงทยอยเพิ่มขึ้นปีละ 10% จนครบ 100% ตามเกณฑ์บังคับในปี 63 ซึ่งธนาคารสามารถดำรงเกณฑ์ LCR ได้ผ่านเกณฑ์ขั้นสูงมาอยู่ที่ระดับเกิน 100% ในปีแรกแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการบริหารสภาพคล่องทางการเงินของธนาคารที่อยู่ในระดับสูง