การเติบโตในปีนี้เป็นไปตามแผนวิสัยทัศน์ที่จะใช้นวัตกรรมสินค้าเป็นตัวขับเคลื่อน พร้อมกับการขยายกำลังการผลิตไลน์ที่ 4 เพื่อรองรับความต้องการของตลาดชาเขียวที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกสูงมากในภูมิภาค และมีครัวกลางที่ทันสมัยได้มาตรฐานระดับโลกเพื่อผลิตวัถตุดิบส่งร้านอาหารในเครือและผลิตอาหารพร้อมรับประทานทั้งแช่เย็นและแช่แข็งทั้งสำหรับจำหน่ายทั่วประเทศและส่งออก ตลอดจนการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑฺ์
บริษัทตั้งงบประมาณการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 1.48 พันล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิตเครื่องดื่มแบบบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อไลน์ที่ 4 (Cold Aseptic Filling Line 4) และการขยายสาขาร้านอาหาร โดยมีแผนขยายตลาดด้วยการลงทุนขยายพื้นที่ให้บริการและสาขาของร้านอาหารญี่ปุ่นชั้นนำในเครือโออิชิอีก 30 สาขาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงจะใช้เงิน 200 ล้านบาทเพื่อจัดแคมเปญไฮไลท์ประจำปีเพื่อผลักดันยอดขายให้เติบโต 15% จากช่วงปกติสำหรับการขยายตลาดชาเขียว
อนึ่ง งบลงทุนรวมราว 1,500 ล้านบาท แบ่งเป็นสำหรับสายการผลิตไลน์ที่ 4 ราว 950 ล้านบาท ขยายสาขาปรับปรุงสาขาเดิม 390 ล้านบาท และอื่นๆ 160 ล้านบาท
สำหรับปัญหาภัยแล้งเชื่อว่าจะไม่กระทบกับการผลิตของบริษัท เพราะได้หารือกับผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมทั้ง ยมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) และ บมจ.นวนคร (NNCL) ไว้แล้ว โดยทั้งสองนิคมฯจะมีพักน้ำส่วนกลาง ขณะที่ภายในโรงงานของบริษัทเองก็มีบ่อพักน้ำสำรอง เชื่อว่าไม่มีปัญหาภัยแล้งเข้ามากระทบ ขณะที่ไลน์การผลิตที่ 4 ที่เพิ่มเข้ามาในปีนี้จะรองรับการผลิตไปได้อีก 2 ปี
"Key success ที่จะทำให้ยอดขายตามเป้า คือ produc บวก service การพัฒนาคุณภาพสินค้า นวัตกรรม Brand.. ไม่มี Brand เราอยู่ไม่ได้ ช่องทางการจัดจำหน่ายเข้าถึงผู้บริโภค เรามีเสริมสุข มี F&N ไทยเบฟ ขณะที่ธุรกิจร้านอาหาร ก็ขยายสาขา เข้าถึงผู้บริโภคที่พบปะสังสรรค์กัน มีสินค้าใหม่ และกำลังมองหาช่องทางขยายตลาดต่างประเทศ ปีนี้เน้นสร้างกิจกรรมการตลาดมากขึ้นทั้งเขมร ลาว ไม่เฉพาะแค่เอาสินค้าไปขาย"นายมารุต กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายมารุต กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมทบทวนเป้าหมายรายได้ 2 หมื่นล้านบาทในปี 63 ว่าขณะนี้มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะในธุรกิจเครื่องดื่มจะมีการหารือแผนงานร่วมกันของบริษัทที่เกี่ยวโยงในเครือทั้ง บมจ.เสริมสุข กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ บริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ (F&N) และ OISHI ในประเด็นความต้องการของตลาดและตัวเลขการเติบโต
ด้านนายไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร เปิดเผยว่า ในปี 59 ตั้งเป้าหมายรายได้จากการขายรวมที่ระดับ 7,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ราว 7% พร้อมขับเคลื่อนและดำเนินธุรกิจเชิงรุก ผ่านแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างรอบด้าน เริ่มจาก 1.มุ่งวิจัยและปรับปรุงภาพลักษณ์ของตราสินค้า (Brand) เพื่อสร้าง “คุณค่า” ทั้งด้านสินค้าและบริการ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่น่าประทับใจสูงสุดแก่ลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย
2. มุ่งพัฒนา และสร้างสรรค์สินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และนำเสนอสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ และ 3. นำเสนอสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ “คุ้มค่าคุ้มราคา” ผ่านกิจกรรมทางการตลาดที่สร้างสรรค์ขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี
ขณะเดียวกัน บริษัทยังมุ่งขยายตลาดด้วยการลงทุนขยายพื้นที่ให้บริการ และสาขาของร้านอาหารญี่ปุ่นชั้นนำในเครือโออิชิให้ครอบคลุมมากที่สุด ทั้งในทำเลห้างสรรพสินค้า ตลอดจนศูนย์การค้าสมัยใหม่อย่าง บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เทสโก้ โลตัส ทั้งในและต่างประเทศรวม 30 สาขา (จากปัจจุบันที่มี 241 สาขา) โดยมี “ชาบูชิ” (Shabushi By OISHI) “นิกุยะ” (NIKUYA By OISHI) และร้านอาหารญี่ปุ่นบริการด่วน “คาคาชิ” (KAKASHI By OISHI) เป็นเรือธง
ด้านธุรกิจอาหารพร้อมรับประทาน บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนา“นวัตกรรม”ไปพร้อม ๆ กับการวิจัยและปรับปรุง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการ อีกด้วย โดยล่าสุดเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งได้แก่ โออิชิ เกี๊ยวซ่า “รวมรส”ทั้งไส้หมู ไก่ กุ้ง หมู-สาหร่าย และ หมู-ทาโกะยากิ มารวมไว้ในซองเดียว วางจำหน่ายแล้ววันนี้ทั้งแบบแช่เย็น (Chilled Food) ขนาดบรรจุ 5 ชิ้นที่เซเว่นฯ และแบบแช่แข็ง (Frozen Food) ขนาดจุใจ 12 ชิ้นตามซุปเปอร์สโตร์และห้างสรรพสินค้า
"ด้วยความต่อเนื่องในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างคุณค่าทั้งด้านสินค้าและบริการ ทำให้กลุ่มธุรกิจอาหาร โออิชิ กรุ๊ป มั่นใจว่าจะก้าวสู่การเป็น “Expert of Japanese Food” ภายในปี 63 ได้อย่างแน่นอน"นายไพศาล กล่าว
บริษัทคาดว่าจากนี้ไปถึงปี 63 รายได้ธุรกิจร้านอาหารจะเติบฌตปีละไม่ต่ำกว่า 10% จาก 7,000 ล้านบาทในปีนี้ไปเป็น 10,000 ล้านบาท โดยปีนี้มีแผนเปิดร้านอาหารเพิ่ม 32 สาขา เป็นในประเทศ 30 สาขา ต่างประเทศ 2 สาขาคือที่ พม่า เป็นชาบูชิทั้งหมด และอยู่ระหว่างเจรจาประเทศใหม่คือ ลาว เป็นไปได้ที่จะเห็นไปเปิดสาขาในปี 60 คือ ร้านชาบูชิ
ขณะที่บริษัทเชื่อว่ารายได้จากการส่งออกในปี 63 จะเพิ่มเป็น 40% จาก 10% ในปีนี้ โดยจะโฟกัสในอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV เป็นหลัก ส่วนที่จะไปเปิดสาขาในยุโรปนั้นคงชะลอไว้ก่อน ขอเน้นการขยายตลาดในอาเซียน รวมถึง CLMV และไทยก่อน
"ปี 63 ที่รายได้จะแตะหมื่นล้านบาท มาจากการขยายสาขาต่อเนื่อง ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ready-to-eat การส่งออกเพิ่ม ซึ่งตลาดที่เป็นเชนเรสเตอร์รองยังมีโอกาสโตได้อีกเยอะ"
ด้านนางเจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจเครื่องดื่ม เปิดเผยว่า แผนงานของกลุ่มเครื่องดื่มในปีนี้ ตั้งเป้าการเติบโต 11% ผ่าน 5 ภารกิจหลักขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ ได้แก่ (1) รุกตลาดอย่างต่อเนื่องตอกย้ำความเป็นผู้นำตลาดชาเขียว โดยจัดโปรโมชั่นที่โดนใจผู้บริโภค และแคมเปญการตลาดแบบครบวงจรอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นรูปแบบการคัดสรรความต้องการเฉพาะกลุ่มมากขึ้น (Tailor-Made) เพื่อให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มวัยรุ่นที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดและเพิ่มยอดขาย อาทิ แคมเปญใหญ่ล่าสุดรับซัมเมอร์ปีนี้ ‘รหัสโออิชิ กองทัพแมวเนโกะทองคำ’ ที่บริษัทฯ ทุ่มงบประมาณถึง 200 ล้านบาท จัดเป็นแคมเปญไฮไลต์ประจำปีเพื่อผลักดันยอดขายให้เติบโตขึ้น 15% จากในช่วงปกติ
(2) ขยายกลุ่มเป้าหมาย (Target Group) โดยใช้นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เป็นตัวขับเคลื่อน โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคกลุ่มคนรุ่นใหม่และผู้ที่ใส่ใจในสุขภาพ รวมทั้งรสชาติใหม่ๆ โดยเฉพาะชารสผลไม้ซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดสูงถึง 18-20% โออิชิจึงเริ่มทำตลาดชารสไม้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับตลาดและผลักดันให้ตลาดมีการเติบโตที่ดี โดยเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่คือชาเขียว ‘โออิชิ องุ่นเคียวโฮ’ ที่ผสมวุ้นเนื้อนุ่มเหนียวเพื่อขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่และเพิ่มการบริโภคมากขึ้นโดยจะเน้นกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปซึ่งมีพฤติกรรมชอบบริโภคสินค้าที่มีความแปลกใหม่และสนุก
(3) เพิ่มการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านการทำตลาดออนไลน์มากขึ้น โดยใช้งบประมาณถึง 25% ของงบฯ การตลาดรวม จากเดิมที่ใช้เพียง 15% ในปีก่อน เพื่อสร้างคอนเนคชั่นกับลูกค้าวัยรุ่นด้วยกิจกรรมออนไลน์ ที่จะช่วยปูพรมไปสู่การสร้างแบรนด์จากช่องทางนี้อย่างจิงจังในอนาคต (4) ปรับกลุ่มสินค้า (Portfolio) ให้มีความชัดเจนขึ้น ได้แก่ กลุ่มชาเขียวมี 3 รสชาติ คือ รสต้นตำรับ รสข้าวญี่ปุ่น และรสเลมอน ขณะที่ชาผลไม้มี 2 รสชาติ คือ รสลิ้นจี่และรสองุ่นเคียวโฮ ส่วนแบรนด์ในตระกูลฟรุตโตะ มี 3 รสชาติ คือ รสสตรอเบอรรี่เมลอน รสเลมอนเบอร์รี่ และรสแอปเปิ้ลเขียวองุ่นขาว (5) สร้างความเติบโตให้ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ พม่า มาเลเชีย สิงคโปร์ พร้อมทั้งมีแผนจับมือกับ Local Distributor ขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศลาวและกัมพูชามากขึ้น โดยเน้นขนาดขวดบรรจุภัณฑ์ 500 มล. เป็นขนาดหลักในการลุยตลาด โดยอิงจากข้อมูลรีเสิร์ชพฤติกรรมผู้บริโภคท้องถิ่น
"สำหรับงบการตลาดปีนี้ 200 ล้านบาท มากกว่าปีก่อน 20 ล้านบาท ปีนี้จะลงสื่อโฆษณาดิจิทัลมากขึ้น เพราะสื่อดิจิทัลโตสุด ซึ่งก็ตรงกับเป้าหมายที่จะโฟกัสกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น โดยยอดขายเดือนม.ค.ดีกว่างวดเดียวกันปีก่อน ถือว่าเป็นไปตามเป้า"นางเจษฎากรกล่าว