นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานกรรมการ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.คาดว่าในงวดปีนี้ (ต.ค.58-ก.ย.59) บริษัทจะมีรายได้และกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารที่คาดว่างวดปีนี้จะเติบโตราว 16-18% จากปีก่อน ซึ่งเป็นการเติบโตของทุกท่าอากาศยานภายใต้การบริหารของ ทอท. โดยได้รับผลดีจากการท่องเที่ยวของไทยเป็นปัจจัยสนับสนุน
ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/59 (ม.ค.-มี.ค.) คาดว่ารายได้เติบโตมากกว่า 20% จากปีก่อน ตามการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารกว่า 20%
"เรามั่นใจว่าปีนี้รายได้และกำไรจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพราะท่องเที่ยวเราโต เริ่มเห็นสัญญาณบวกตั้งแต่เดือนมกราคม ยังเห็นนักท่องเที่ยวมากอยู่ และการเปิดอาคารผู้โดยสารดอนเมืองหลังที่ 2 ก็ช่วยหนุนด้วย"ประธานกรรมการ AOT กล่าว
ในปีนี้ ทอท.ยังมีรายได้จากให้เช่าพื้นที่เชิงพาณิชย์ภยในสนามบินเพิ่มขึ้นราว 20% จากปีก่อน หรือคิดเป็นจำนวนเงินกว่า 1 พันล้านบาท เนื่องจากพื้นที่เชิงพาณิชย์ของท่าอากาศยานดอนเมืองเพิ่มขึ้น 20% หลังเปิดอาคารผู้โดยสาร 2 ที่มีจำนวนร้านค้า 267 ร้าน และร้านค้าปลอดภาษี ทั้งนี้ สัดส่วนรายได้จากธุรกิจการบิน(AERO) ในปีนี้จะอยู่ที่ 60% และรายได้ที่ไม่ใช่ธุรกิจการบิน(Non-AERO) มีสัดส่วน 40%
ในงวดปี 58 (สิ้นสุด ก.ย.) AOT รายงานรายได้อยู่ที่ 4.6 หมื่นล้านบาท. และกำไรสุทธิ 1.87 หมื่นล้านบาท
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า บริษัทมีแผนปรับปรุงทุกท่าอากาศยานเพื่อรองรับการเติบโตของผู้โดยสาร ภายใต้งบลงทุน 1.4 แสนล้านบาทในช่วง 5 ปี ส่วนใหญ่ใช้ในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 จำนวน 1.1 แสนล้านบาท โดยขณะนี้.คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้อนุมัติร่างประกวดราคา 2 สัญญา แล้วจากทั้งหมด 7 สัญญา และจะทยอยอนุมัติให้ครบ ซึ่ง AOT จะเริ่มประกวดราคาในกลางเดือน มี.ค.นี้ คาดว่าจะได้ผู้รับเหมาก่อสร้างภายในเดือนมิ.ย.จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างในเดือน ก.ค.59
สำหรับ 2 สัญญาที่จะเปิดประมูล ได้แก่ งานจ้างก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินหลังที่ 1 ลานจอดรถอากาศยานประชิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และส่วนต่อขยายอุโมงค์ด้านทิศใต้ (งานโครงสร้างและงานระบบหลัก) วงเงินราว 1.5. หมื่นล้านบาท และ งานจ้างก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค วงเงิน 2.5 พันล้านบาท นอกจากนี้ คาดว่าเร็วๆนี้ คตร.จะอนุมัติงานจัดจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC)
ส่วนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะ 3 จะนำเสนอคณะกรรมการบริษัทอนุมัติงบลงทุนที่คาดว่าไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท ในวันที่ 23 มี.ค.นี้. ซึ่งงบลงทุนดังกล่าวยังไม่ได้รวมในแผนลงทุน 5 ปี โดยโครงการนี้จะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารภายในประเทศหลังเดิม การก่อสร้างอาคาร Junction Terminal เชื่อมระหว่างตัวอาคารกับสถานีรถไฟฟ้าดอนเมือง และก่อสร้างอาคารจอดรถเพื่อรองรับรถยนต์ได้อีกกว่า 3,000 คัน คาดว่าจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเป็น 40 ล้านคน/ปี คาดแล้วเสร็จในปี 63-64
นอกจากนี้ บริษัทเตรียมแผนขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานอื่น ได้แก่ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เพิ่มอีก 5 ล้านคน/ปี จากปัจจุบันรองรับได้ 8 ล้านคน/ปี และท่าอากาศยานหาดใหญ่ ที่ปัจจุบันรองรับได้ 3 ล้านคน/ปี รวมทั้งท่าอากาศยานเชียงราย จากที่รองรับได้ 1.5 ล้านคน/ปี
นายนิตินัย กล่าวว่า แหล่งเงินลงทุนในโครงการต่าง ๆ จะมาจากผลกำไรจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะมี 2.5 หมื่นล้านบาท/ปี รวมเวลา 4 ปีจะมีเงินสด 1 แสนล้านบาท และยังมีกระแสเงินสด 4.8 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลืออาจจะมาจากเงินกู้
ในวันนี้ ทอท.ได้เปิดใช้งานอาคารผู้โดยสาร อาคาร 2 อย่างเป็นทางการ ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 102 ปีของท่าอากาศยานดอนเมือง โดย ทอท.ได้ติดตั้งระบบการตรวจกระเป๋าสัมภาระระบบใหม่ "Inline Baggage Screening System" ผู้โดยสารไม่จำเป็นจะต้องผ่านขั้นตอนนำกระเป๋าสัมภาระผ่านเครื่องเอ็กซเรย์ก่อนเข้ากระบวนการตรวจบัตรโดยสาร (Check in) แต่จะเริ่มกระบวนการตรวจบัตรโดยสารที่เคาน์เตอร์ของสายการบินได้เลย จากนั้นกระเป๋าสัมภาระจะถูกวางลงสายพานลำเลียงเข้าไปยังห้องตรวจสัมภาระ โดยผู้โดยสารจะต้องตรวจดูกระเป๋าสัมภาระของตนเองผ่านจอโทรทัศน์วงจรปิดหน้าห้องตรวจสัมภาระบริเวณท้ายเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร
นายนิตินัย กล่าวอีกว่า เมื่อปี 58 ท่าอากาศยานดอนเมืองรองรับผู้โดยสารเฉลี่ย 82,000 คนต่อวัน และเที่ยวบินเฉลี่ย 620 เที่ยวบินต่อวัน หรือประมาณ 29 ล้านคนต่อปีซึ่งถือว่าเกินขีดความสามารถในการรองรับของท่าอากาศยานทอท.จึงได้เปิดให้บริการอาคารผู้โดยสาร อาคาร 2 สำหรับให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศแบบบางส่วนเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 58 เพื่อลดความแออัดภายในอาคารผู้โดยสารทำให้ปัจจุบันมีปริมาณผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 100,000 คนต่อวัน และมีเที่ยวบินประมาณ 680 เที่ยวบินต่อวัน
ในปี 58 ท่าอากาศยานดอนเมืองได้รับการจัดอันดับโดย CAPA Centre for Aviation (CAPA) ให้เป็นท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารสายการบินต้นทุนต่ำมาใช้บริการมากที่สุดในโลก ซึ่งAOTได้มีการติดตามการเติบโตของปริมาณการจราจรทางอากาศ ณทดม.ที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีแผนปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร อาคาร 1