อีกทั้งสินเชื่อทีอ่ยู่อาศัยของธนาคารในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้มีการเติบโตมากอยู่ที่ 5-7% จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ส่งผลให้เกิดการเร่งโอนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มบ้านระดับราคา 3 ล้านขึ้นไปที่ธนาคารมีการอนุมัติสินเชื่อให้มากที่สุด ส่วนบ้านระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทนั้นยังค่อนข้างมีปัญหากู้ไม่ผ่านค่อนข้างมาก เนื่องจากธนาคารให้ความระมัดระวังเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ เพราะปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนในระบบอยู่ในระดับสูงที่ 80% ซึ่งกระทบความสามารถในขอสินเชื่อของลูกค้าที่ซื้อบ้านระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ธนาคารยังเป็นเบอร์ 1 ใน สินเชื่อบ้านของระบบ โดยปัจจุบันมีพอร์ตสินเชื่อบ้านอยู่ที่กว่า 5 แสนล้านบาท
นายญนน์ กล่าวว่า ธนาคารยังมั่นใจว่าสินเชื่อรวมปีนี้จะขยายตัวได้ 4-6% ตามเป้าหมาย จากการการลงทุนต่างๆทั้งการลงทุนภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนให้เศรษฐกิจในประเทศขยายตัวได้ขึ้น แม้ว่าจะยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่สร้างความผันผวน ส่วนสินเชื่อแต่ละประเภทของธนาคารได้ตั้งเป้าสินเชื่อรายย่อยในปี 59 เติบโต 3-5% สินเชื่อ SMEs เติบโต 3-6% และสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ เติบโต 4-6%
ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 59 ยังอยู่ในระดับทรงตัวจากสิ้นปี 58 ที่ 2.89% โดยลูกค้าของธนาคารนั้นมีแนวโน้มการชำระหนี้ที่ตรงต่อเวลามากขึ้น และได้รับผลบวกจากโครงการซอฟท์โลนและบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ของภาครัฐที่เข้ามาช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ทำให้ NPL ในช่วง 2 เดือนแรกไม่ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังสามารถทรงตัวในระดับเดียวกับสิ้นปีก่อนได้ อย่างไรก็ตามธนาคารจะพยายามรักษาระดับ NPL ในปีนี้ให้ไม่เกิน 3%
ด้านเศรษฐกิจไทยในปี 59 มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 59 จะขยายตัวได้ 2.5% โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินเบิกจ่ายเข้าสู่ระบบจำนวน 6.86 หมื่นล้านบาทในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังสามารถขยายตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบางและอ่อนไหวจากปัจจัยที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ อย่างเช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศมหาอำนาจ รวมไปถึงราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลต่อความเชื่อมั่นของตลาด และสร้างความผันผวนให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก
สำหรับการลงทุนในช่วงนี้ควรติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และยังไม่ควรไว้วางใจกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกว่าจะฟื้นตัวขึ้นอย่างดีมาก ดังนั้น นักลงทุนควรวางแผนธุรกิจโดยพิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่างๆอย่างรัดกุม รวมถึงจัดการความเสี่ยงและบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ
"ปัจจุบันตลาดโลกอ่อนไหวต่อข่าวและเหตุการณ์ต่างๆมากขึ้น ผู้ประกอบการทุกระดับ ตั้งแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ SMEs รวมถึงนักลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนจะต้องให้ความสำคัญต่อการบริหารและกระจายความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่าปีนี้จะเป็นอีกปีหนึ่งที่เศรษฐกิจโลกจะต้องเผชิญกับความผันผวน และประเทศไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้าหากเราก้าวผ่านความผันผวนนี้ไปได้ ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะเดินหน้าเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพและสามารถแข่งขันในเวทีระดับโลกได้"นายญนน์ กล่าว