(เพิ่มเติม) กทค.ไม่เยียวยาต่อลูกค้า 2G ของ ADVANC นัดพรุ่งนี้ถกข้อเสนอ TRUE ให้เช่าคลื่น 900 MHz 3 เดือน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 8, 2016 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) วันนี้ว่า ที่ประชุม กทค.ไม่อนุมัติให้ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส ขยายระยะเวลามาตรการเยียวยาผู้ใช้คลื่นความถี่ 900 MHz หลังจากที่บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมูนิเคชั่น จำกัด (TUC) ผู้ชนะประมูลได้ทำหนังสือแจ้งว่าจะมาจ่ายเงินค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz งวดแรก และวางหนังสือค้ำประกัน (แบงก์การันตี) ในวันที่ 11 มี.ค.นี้ เวลา 13.39 น. โดยคาดจะออกใบอนุญาตให้ TUC ในวันที่ 14 มี.ค.นี้

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังมีผู้ใช้คลื่น 900 MHz กับโครงข่ายของ ADVANC อยู่กว่า 8 ล้านราย

นายฐากร กล่าวอีกว่า สำนักงาน กสทช.จะเชิญผู้ประกอบการ 4 ราย ได้แก่ เอไอเอส , บมจ.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (AWN), บมจ.ทีโอที (TOT) และ TUC มาปหารือในวันพรุ่งนี้เวลา 9.30 น.เพื่อเจรจาแนวทางการคุ้มครองผู้ใช้บริการ 2G คลื่น 900 MHz ในเครือข่ายเอไอเอส หลังจากสิ้นสุดมาตรการเยียวยา

สำหรับแนวทางดังกล่าวจะต้องดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย เบื้องต้น คือ มาตรา 46 ของ พ.ร.บ.กสทช.เกี่ยวกับการให้รายอื่นเช่าใช้โครงข่ายว่าให้นำคลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 20 MHz ซึ่ง TUC และ บริษัท แจส โมบาย จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลมาให้เช่าใช้รองรับผู้ใช้บริการในส่วนนี้ เพราะเป็นคลื่นความถี่ในย่านเดียวกับที่เอไอเอสและ AWN ให้บริการกับประชาชน ขณะที่ทีโอทีจำเป็นผู้คำนวณค่าเช่าโครงข่าย

นายฐากร กล่าวว่า TUC ไม่ต้องการผู้ใช้บริการซิมคลื่น 900 MHz ของเอไอเสต้องดับลง เพราะไม่ต้องการเป็นผู้ร้าย จึงเสนอมาตรการคุ้มครองชั่วคราวเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยให้ สำนักงาน กสทช.เป็นผู้ดำเนินการให้เช่าโครงข่ายเพื่อรองรับเรื่องดังกล่าว แต่ผู้ให้บริการ หรือ เอไอเอส จะต้องจ่ายเงินค่าเช่าให้ TUC ประเมินเบื้องต้นเฉลี่ยเดือนละ 450 ล้านบาท เป็นการคำนวณจากค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ที่ประมูลได้ ซึ่งมีอายุใบอนุญาต 15 ปี

ส่วนคลื่นคลื่นถี่ในส่วนของแจส โมบาย นั้น หากยังไม่มาจ่ายเงินค่าใบอนุญาต ก็ให้ กสทช.เป็นผู้ดำเนินการแทน

ในวันนี้ที่ประชุม กทค. มีมติรับทราบตามที่ TUC เสนอแนวทางดังกล่าวเป็นการคุ้มครองชั่วคราวโดยไม่ให้ใช้มาตรการเยียวยา แต่ให้ใช้มาตรการเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะสำหรับกรณีการเปลี่ยนผ่านก่อนการเปิดบริการคลื่นความถี่ 900 MHz เป็นระยะเวลา 3 เดือน หรืออาจจะเปลี่ยนซิมแต่ใช้เบอร์เดิม สามารถใช้ค่ายไหนก็ได้ หรือเปลี่ยนเครื่องเพื่อรองรับ 3G ก็ดำเนินการเปลี่ยนได้ทันที.โดยต้องเสนอผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นชอบเสียก่อน และให้ดำเนินการแล้วเสร็จในวันที่ 10 มี.ค.นี้

"เป็นมาตรการเปลี่ยนผ่านเพื่อไม่ให้ซิมดับ วันนี้ที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง ว่าต้องเป็นการคุ้มครองประโยชน์ประชาชน และเป็นการคุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐ...ขอย้ำว่าเป็นมาตรการเปลี่ยนผ่านไม่ใช่มาตรการเยียวยา"นายฐากร กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากเจรจาไม่ได้ กสทช.จะพิจารณาตามมาตรา 63 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม และหากยังไม่สามารถตกลงกันได้อีกก็อาจจะเสนอให้รัฐบาลใช้มาตรา 44

กรณีของบริษัท แจส โมบาย จำกัด นั้น นายฐากร กล่าวว่า ขณะนี้ทางแจสฯยังไม่ได้ติดต่อมายังสำนักงาน กสทช. แต่จะติดต่อกลับมาแจ้งความคืบหน้าในวันที่ 17 หรือ 18 มี.ค. นี้ ตามที่ได้แจ้งมาก่อนหน้านี้ ซึ่ง กสทช.ยังเปิดโอกาสไปถึงวันที่ 21 มี.ค.นี้ซึ่งเป็นกำหนดสิ้นสุดการชำระเงิน

นายฐากร ยังกล่าวถึงเรื่องที่ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด ทำหนังสือมายัง กทค.ร้องเรียนว่า เอไอเอส หรือ AWN และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมิวนิเคชั่น(DTAC) หรือ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ปฏิเสธให้ลูกค้าโอนย้ายไปค่ายอื่น ซึ่งขณะนี้มีลูกค้าค้างระบบอยู่กว่า 6 แสนราย ดังนั้น มติ กทค.จึงมอบหมายให้สำนักงานออกคำสั่งทางปกครองกับเอไอเอส หรือ AWN และ DTAC หรือ ดีแทคไตรเน็ต ต้องให้ลูกค้าโอนย้ายไปทรูมูฟเอช หรือ เรียลมูฟ เพราะถือเป็นผลกระทบโดยตรงของลูกค้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ