ด้านนางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า แนวโน้มภาวะตลาดหุ้นไทยมีแรงหนุนจากตลาดต่างประเทศที่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะใช้มาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม และธนาคารกลางสหรัฐ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.25%-0.50% จากเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงมากขึ้น พร้อมทั้งจะมีการทำ Window Dressing ปลายเดือนมี.ค.
อย่างไรตาม ปัจจัยที่กดดันดัชนีตลาดหุ้นไทยก็ยังคงมีต่อเนื่อง โดยในวันที่ 31 มี.ค. ธนาคารแห่งประเทศไทยจะรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยและน่าจะประกาศปรับลดเป้าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทย (GDP) หลังจากเศรษฐกิจไทยมีทิศทางแผ่วลงเห็นได้จากตัวเลขการส่งออกในเดือนม.ค.ที่ติดลบ 9.3% พร้อมกันนี้ ตัวเลขส่งออกของจีนออกมาแย่ที่สุดในรอบ 7 ปี ในเดือนก.พ. มียอดส่งออกร่วงลง 20.6% เมื่อเทียบรายปี สู่ระดับ 8.218 แสนล้านหยวน (1.263 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่ยอดการนำเข้าลดลง 8% สู่ระดับ 6.123 แสนล้านหยวน ส่วนยอดขาดดุลการค้าต่างประเทศเดือนก.พ. ของจีนร่วงลง 43.3% เทียบรายปี สู่ระดับ 2.095 แสนล่านหยวน
สำหรับแนวทางการลงทุนในทองคำ นายสุทธิพงษ์ ศรีพรประเสริฐ นักวิเคราะห์การลงทุน บล.โกลเบล็ก เปิดเผยว่า ราคาทองคำเริ่มพักตัวลง จากแรงขายทำกำไรของนักลงทุนหลังราคาทองปรับขึ้นมามากในช่วงก่อนหน้าจากแรงหนุนเรื่องการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ หลังสหรัฐเปิดเผยยอดส่งออกและยอดนำเข้าเดือนม.ค.ร่วงลงอย่างหนัก ส่งผลให้ตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐเพิ่มขึ้นในเดือนม.ค. และที่ล่าสุดสำนักงานศุลกากรจีน (GAC) รายงานยอดส่งออกเดือนก.พ. ร่วงลง 20.6% เมื่อเทียบรายปี ที่มียอดการนำเข้าลดลง 8% เมื่อเทียบรายปี จากตัวเลขการค้าของจีนที่ออกมาย่ำแย่สร้างความกังวลต่อความต้องการทองคำอาจลดลง
อย่างไรก็ตาม จากความกังวลถึงแนวโน้มเศรษฐกิจจีนบวกกับราคาน้ำมันดิบที่เริ่มปรับลดลงทำให้โกลด์แมนแซคส์แสดงความคิดเห็นว่าการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันในระยะนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเร็วเกินไปและจะไม่ยั่งยืนจะสร้างแรงกดดันต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน รวมถึงการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ อาจจะไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ จะเป็นปัจจัยดึงดูดให้นักลงทุนมีแนวโน้มกลับมาลงทุนในทองคำอีกครั้ง
ดังนั้น ประเมินแนวโน้มราคาทองคำโลกด้านเทคนิคว่า ราคาทองมีแนวโน้มปรับลงต่อจากการพักฐานออกข้างมาระยะหนึ่งก่อนปรับลงมาต่ำกว่าแนวรับเส้นค่าเฉลี่ย 5 วัน ด้วยการเรียงตัวแท่งเทียนสัญญาณลบเป็นสัญญาณอ่อนแรง ขณะที่ค่าสัญญาณ RSI ที่อยู่ใกล้แนวเขตซื้อมากไปและเริ่มปรับลงจากสัญญาณ BEARISH DIVERGENCE เป็นแรงกดดันเสริม ทำให้ราคามีโอกาสพักฐานในแนวโน้มขึ้นและปรับลงต่อ โดยให้แนวรับ 1,205 –1,200 เหรียญต่อทรอยออนซ์ และแนวต้าน 1,295 -1,300 เหรียญต่อทรอยออนซ์