ในการนี้ กสทช.ได้เป็นเจ้าภาพเชิญประชุมผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ TUC, เอไอเอส, บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และ บมจ.ทีโอที มาเจรจากันในวันที่ 9 มี.ค.59
นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสไม่สามารถรับข้อเสนอของ TUC ได้ เนื่องจากคลื่นของ TUC อยู่ที่ Lot 2 แต่ปัจจุบัน เอไอเอสใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900MHz ใน Lot ที่ 1 ซึ่งยังไม่มีการติดต่อมาชำระเงินค่าประมูลจากผู้ชนะประมูลอีกราย ขณะที่การที่จะเปลี่ยนไปใช้คลื่นความถี่ใน Lot ที่ 2 ของ TUC จึงกระทำไม่ได้ในเวลาอันสั้น
อีกทั้งขอเสนอของเอไอเอสที่มีไปยัง กสทช.นั้น เอไอเอส ต้องการใช้คลื่น 900 MHz ใน Lot ที่ 1 เพียง 5 MHz ซึ่งเอไอเอสได้เสนอเรื่องขอใช้คลื่นดังกล่าวกับ กสทช.เพื่อพิจารณาคลื่นให้เอไอเอสได้นำไปใช้ในการดูแลผู้ใช้บริการต่อไป
"เอไอเอส เชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายทั้งภาครัฐอย่างกสทช.หรือในภาคเอกชนอย่างผู้ให้บริการทุกรายต่างมีความตั้งใจในการดูแลผู้บริโภคมาโดยตลอด เพื่อมิให้เกิดผลกระทบกับการใช้บริการระบบสื่อสารในช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีในครั้งนี้"นางวิไล กล่าว
อย่างไรก็ตาม นางวิไล ระบุว่า ตลอดระยะเวลาตั้งแต่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เอไอเอส ได้พยายามดูแลลูกค้าทุกรายที่อยู่บนระบบคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และได้เตรียมแผนรองรับผลกระทบทุกทาง ประกอบด้วย 1.ทำจดหมายไปยังสำนักงาน กสทช. ถึง 3 ครั้งเพื่อขอให้ชะลอการสิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการบนคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz อย่างน้อยถึงสิ้นเดือนมิ.ย.59 เพื่อให้เวลาลูกค้าที่เหลืออยู่ดำเนินการโอนย้ายได้ทัน
2. จัดเตรียมเครื่องโทรศัพท์มือถือทดแทนให้ฟรี สำหรับลูกค้าที่ยังคงถือเครื่อง 2G ให้เปลี่ยนเป็น 3G หรือ 4G และ 3.เดินหน้าขยายเครือข่าย 3G และ4G อย่างต่อเนื่องด้วยงบประมาณ 40,000 ล้านบาท