(เพิ่มเติม) VTE เชื่อปีนี้พลิกกำไรรับรายได้นิวไฮ-ล้างขาดทุนสะสม,เทงบพันลบ.รุกธุรกิจพลังงาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 11, 2016 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.วินเทจ วิศวกรรม (VTE) คาดว่าผลประกอบการในปีนี้จะพลิกเป็นกำไรสุทธิ เนื่องจากตั้งเป้ารายได้กว่า 2 พันล้านบาท จาก 479 ล้านบาทในปี 58 เป็นการเติบโตก้าวกระโดดทำสถิติสูงสุดใหม่ เนื่องจากบริษัทขยายการรับงานในต่างประเทศมากขึ้น พร้อมทั้งหวังว่าปีนี้จะล้างขาดทุนสะสมกว่า 100 ล้านบาทได้ทั้งหมดหากสามารถขายเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียสำเร็จ

ขณะที่บริษัทมองโอกาสที่จะใช้เงินลงทุนกว่า 1 พันล้านบาทในปีนี้เพื่อขยายธุรกิจพลังงานทดแทนทั้งในเมียนมาร์และญี่ปุ่น โดยตั้งเป้ากำลังผลิตไฟฟ้าของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 90 เมกะวัตต์ในปี 61 จากที่ขณะนี้มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ได้แล้วราว 1.2 เมกะวัตต์ ขณะที่บริษัทจะทยอยสร้างโรงไฟฟ้าใหม่และซื้อกิจการเข้ามาเพิ่ม

นายโสรัจ โรจนเบญจกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ VTE คาดว่าบริษัทจะมีรายได้รวมในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 2 พันล้านบาท จากธุรกิจหลักรับเหมาก่อสร้างในประเทศที่มีรายได้ราวปีละ 400-600 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม (EPC) ในประเทศฟิลิปปินส์ ปีนี้คาดว่าจะมีรายได้ 1,400-1,500 ล้านบาท ซึ่งได้ลงนามก่อสร้างโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ (EPC Contract) กับเจ้าของโครงการแล้ว

ปัจจุบันบริษัทงานในมือ (backlog) 400 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้เป็นรายได้ในปีนี้ราว 90% และอยู่ระหว่างยื่นและเตรียมยื่นประมูลงานภาครัฐและเอกชนในประเทศอีก 600 ล้านบาท แบ่งเป็น สัดส่วนเอกชน 300 ล้านบาท และภาครัฐบาล 2 โครงการ มูลค่าราว 300 ล้านบาท แต่ในส่วนของงานภาครัฐยังไม่แน่ชัดเพราะเป็นการเสนอราคาทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ซึ่งจะทยอยรู้ผลในปีนี้

"ปีนี้รับรู้รายได้จากงาน EPC หลักในประเทศที่มี Backlog อยู่แล้ว และรับจ้างก่อสร้างโรงไฟฟ้าในฟิลิปปินส์ราว 1,400-1,500 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างราว 6 เดือน ถ้าเสร็จก็รับรู้รายได้ปีนี้ทั้งหมด รวมกันก็ราว 2,000 กว่าล้านบาท"นายโสรัจ กล่าว

นายโสรัส กล่าวว่า ในส่วนของผลประกอบการปีนี้คาดว่าจะพลิกเป็นกำไรสุทธิ จากปีก่อนขาดทุนสุทธิ 106 ล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มทำกำไรได้ตั้งแต่ช่วงกลางปี 59 เป็นต้นไป และหากปลายปีนี้รับรู้รายได้งาน EPC ในฟิลิปปินส์เข้ามาก็จะทำให้เป็นกำไรสุทธิทันที พร้อมกันนี้บริษัทคาดว่าจะสามารถล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่กว่า 100 ล้านบาทได้ทั้งหมดหากการขายสิทธิเหมืองถ่านหินในเกาะสุมาตรา ที่อินโดนีเซียเสร็จสิ้น โดยมีปริมาณสำรองถ่านหิน 4 ล้านตัน มูลค่าขายสิทธิเหมืองอยู่ที่ 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในไตรมาส 4/58 บริษัทได้ตั้งสำรองไว้ 90 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทได้ทำสัญญากับผู้ซื้อเหมืองและวางเงินมัดจำแล้ว รอการจ่ายเงินครบจำนวนก็จะบันทึกกลับมาเป็นบวกในปี 59 ซึ่งคาดว่าไม่เกินไตรมาส 2/59 การเจรจาชำระเงินน่าจะเสร็จสิ้น เมื่อล้างขาดทุนสะสมหมดและผลประกอบการเป็นกำไร บริษัทก็จะจ่ายปันผล โดยนโยบายจ่ายไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ

โดยปีนี้คาดว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 100 ล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) อยุ่ที่ 1.98% ขณะที่คาดว่าผลการดำเนินการก็จะค่อยๆดีขึ้นจนถึงปี 61 คาดจะมี EBITDA เพิ่มเป็นระดับ 391 ล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิ 3.5%

ทั้งนี้ บริษัทได้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนอยู่แล้วในปัจจุบัน และกำลังมองหาการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อต่อยอดโดยมองการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) และโรงไฟฟ้าไบโอแมส ในประเทศเมียนมาร์และญี่ปุ่นเป็นหลัก

ขณะนี้ร่วมทุนในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 220 เมกะวัตต์ ที่จ.มินบู ในเมียนมาร์นั้น บริษัทจะถือหุ้น 12% คาดว่าจะดำเนินการเฟสแรก 50 เมกะวัตต์ จะเริ่มก่อสร้างพ.ค.59 เสร็จกลางปี 60 ก็จะเริ่ม COD ได้ส่วนที่เหลือก็จะทยอยดำเนินการต่อไป

ส่วนในประเทศญี่ปุ่น VTE ได้เข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มขนาด 1.2 เมกะวัตต์ ซึ่งได้จ่ายไฟเข้าระบบแล้วตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และกำลังดูเพิ่มอีก 2 โครงการ ขนาด 2.4 เมกะวัตต์ และ 10 เมกะวัตต์ โดยการลงทุนในญี่ปุ่นจะเน้นการซื้อกิจการที่สร้างโรงไฟฟ้าแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนกลางปี 59 นอกจากนี้ยังดูโครงการโรงไฟฟ้าไบโอแมสในญี่ปุ่น 1 โครงการขนาด 25 เมกะวัตต์ ใช้กะลาปาล์มเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งก็เท่ากับว่าปีนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาและคาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าราว 65 เมกะวัตต์เมื่อถึงปี 61 จะเพิ่มเป็น 90 เมกะวัตต์ ทั้งที่เป็นการร่วมทุนและเป็นเจ้าของเอง และตามแผนภายใน 5 ปี เชื่อมั่นว่าจะสามารถซื้อกิจการและพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าได้มากกว่า 500 เมกะวัตต์ในภูมิภาคอาเซียน

โดยในปีนี้มีโอกาสที่จะใช้เงินลงทุนโครงการต่างๆ 1 พันล้านบาท แหล่งเงินจากกระแสเงินสด 400 ล้านบาท และอาจหาผู้ร่วมทุนเป็นโค-โปรเจกต์หรือผู้ร่วมโครงการ ซึ่งถ้าการลงทุน 90 เมกะวัตต์ ยังมีเงินเพียงพอไม่ต้องเพิ่มทุน ขณะที่หนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำที่ 0.3 เท่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ