บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า โครงการโซลาร์ฟาร์มค้างท่อที่เลยกำหนดจ่ายไฟฟ้าภายในวันที่ 30 ธ.ค.58 แล้ว ปัจจุบันคงเหลือรวม 500 เมกะวัตต์ (MW) หากสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ภายใน 30 เม.ย.59 จะได้รับค่าไฟฟ้าระบบ FiT ในอัตราเดิม แต่หากเลยระยะเวลาดังกล่าวแต่ยังสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ภายใน 30 มิ.ย.59 จะได้รับค่าไฟฟ้าลดลง 5% แต่หากเกินวันที่ 30 มิ.ย.59 จะถูกยกเลิกสัญญาทันที โดยกรณีนี้มองเป็นบวกกับ SUPER
ด้านบล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า มีมุมมอง Positive ต่อทั้งกลุ่มพลังงานทดแทนจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันศุกร์ จากสามประเด็น ได้แก่ กรณีใช้มาตรา 44 ยกเลิกผังเมืองรวมให้มีผลย้อนหลัง ส่งผลให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องพิจารณาผู้ผ่านคุณสมบัติการคัดเลือกโซลาร์ฟาร์มหน่วยราชการใหม่ คาดจะรู้ผลช่วงต้นเดือนเม.ย. เป็นบวกต่อกลุ่มผู้ประกอบการโซลาร์ และกลุ่มผู้รับเหมา (EPC) บางราย (GUNKUL, PSTC, SUPER, IFEC, TSE) ,การอนุมัติยืดเวลาจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ให้แก่โครงการโซล่าร์ค้างท่อได้อีก 4-6 เดือน หนุนหุ้นกลุ่ม EPC โดยคาดจะมีการซื้อใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า (PPA) จากผู้ประกอบการที่ไม่มีเงินทุนในการก่อสร้าง (GUNKUL, SUPER, IFEC)
พร้อมทั้งเห็นชอบมติเปลี่ยนจากระบบซื้อไฟ Adder เป็น Feed-in Tariff สำหรับผู้ประกอบการไฟฟ้าจากชีวมวล หนุนกำไรผู้ประกอบการชีวมวลดีขึ้น (BRR, TPCH) เบื้องต้นคาดกำไรสุทธิปรับตัวขึ้นราว 20-30% บนโครงการชีวมวลในระบบ Adder เดิม โดยหากบังคับใช้จะเพิ่มราคาเป้าหมาย BRR ราว 0.30 บาทต่อหุ้น และเพิ่มราคาเป้าหมาย TPCH ราว 0.26 บาทต่อหุ้น