ทั้งนี้ บริษัทเห็นว่าการเข้าใช้คลื่นดังกล่าวจะไม่เป็นการริดรอนสิทธิผู้ได้รับใบอนุญาตในชุดที่ 2 รวมถึง กสทช.เองก็ต้องการความต่อเนื่องในการให้บริการเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและคุ้มครองผู้ใช้บริการให้ใช้งานได้ต่อเนื่องอย่างไม่มีข้อจำกัดในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านการสิ้นสุดสัมปทาน
ส่วนกระแสข่าวข้อเสนอของทาง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ที่ยินยอมให้ กสทช.นำคลื่นความถี่ 900MHz ที่ทางบริษัทลูกของ TRUE เป็นผู้ถือใบอนุญาตมาให้เอไอเอสใช้งานชั่วคราวแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย ภายใต้รูปแบบที่ บมจ.ทีโอที จะต้องสนับสนุนอุปกรณ์ 2G และเอไอเอสดูแลระบบบริหารจัดการนั้น นายสมชัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อเสนอนี้โดยตรงจาก TRUE แค่เป็นเพียงการเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เอไอเอสเห็นว่าเป็นแนวทางที่ไม่สามารถเป็นไปได้จริงทั้งในแง่กฎหมาย เนื่องจากยังเป็นปัญหาในข้อกฎหมายที่ กสทช.ต้องพิจารณาว่าจะเข้าข่ายเป็นการให้ผู้อื่นมาร่วมใช้คลื่นความถี่หรือไม่ อีกทั้งในทางปฏิบัติไม่สามารถดำเนินการได้เวลาอันสั้น
"ผมยืนยันว่า กสทช.ทำได้เพียงแต่จะกล้าทำหรือเปล่า และยังไม่ระรานสิทธิของ TRUE"นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า ในช่วงบ่ายวันนี้เอไอเอสจะเข้าหารือกับ กสทช. เบื้องต้นอันดับแรกจะขอโอนย้ายลูกค้าเอไอเอสผู้ใช้บริการ 2G บนคลื่น 900 MHz จำนนวน 4 แสนรายไปเป็นลูกค้าบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือที่มีใบอนุญาตใช่คลื่น 2100MHz (3G) โดยอัตโนมัติเป็นกรณีพิเศษที่ลูกค้าไม่ต้องแสดงตน ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาซิมดับหลังจากทาง TRUE เข้ารับใบอนุญาตคลื่น 900 MHz แล้วในวันนี้
แต่หาก กสทช.ไม่ตอบรับข้อเสนอดังกล่าว ทางเอไอเอสจะขอเสนอเช่าใช้คลื่นความถี่ 900MHz ชุดที่ 1 จำนวน 5 MHz ในส่วนที่ แจส โมบาย เป็นผู้ชนะประมูลเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งเชื่อว่าจะโอนย้ายลูกค้าได้ทัน อย่างไรก็ตาม ที่สดหาก กสทช. ไม่อนุญาตตามที่บริษัทร้องขอ ทางเอไอเอสก็จะยังคงเดินหน้าในแนวทางของบริษัทเพื่อให้ลูกค้าได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากซิมดับ คือ จัดเครื่องทดแทนให้ฟรีสำหรับลูกค้าที่ยังคงต้องการใช้บริการกับบริษัท แต่จะต้องอัพเกรดบริการไปเป็น 3G หรือ 4G
และในระยะนี้ยังให้ลูกค้าคลื่น 1800 MHz ภายใต้ AWN ยังถือเครื่องโทรศัพท์ 2G เพื่อใช้งานบนเครือข่ายของบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมิวนิเคชั่น (DTAC)หรือดีแทค ที่เอไอเอสร่วมโรมมิ่งมาไว้แล้ว โดยมั่นใจช่องทางนี้รองรับได้ถึง 8 ล้านเลขหมาย ขณะเดียวกันบริษัทเดินหน้าขยายเครือข่าย 3G และ 4G อย่างต่อเนื่องด้วยงบประมาณ 40,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาทแก้จุดบอดของการใช้โครงข่าย 1800MHz ของ DTAC เพื่อให้ลูกค้าเอไอเอส 2G ไม่ได้รับผลกระทบ
"ถ้า กสทช.ไม่อนุญาตแนวทางที่เราเสนอ วิธีดูแลลูกค้าเอไอเอสเราจะทำ 3 step ที่เราวางแผนไว้แล้ว เรามั่นใจว่า 3 Solution จะช่วยลูกค้า 4 แสนรายซิมไม่ดับ"นายสมชัย กล่าว
นายสมชัย กล่าวว่า แนวทางทั้ง 3 ทางบริษัทเสียค่าใช้จ่ายครั้งเดียวในปีนี้ จึงมีผลต่อผลประกอบการของบริษัทในปีนี้ทั้งในแง่รายได้และกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปัจจุบันเอไอเอสยังคงเหลือลูกค้าที่ใช้เบอร์ในระบบ 2G คลื่น 900 MHz ราว 4 แสนราย และลูกค้า AWN ที่ยังคงถือเครื่องมือถือ 2G อีกราว 7.6 ล้านราย
สำหรับกระแสข่าวข้อเสนอของ TRUE ที่ให้ กสทช.นำคลื่นความถี่ 900 MHz มาให้เอไอเอสใช้งานต่อชั่วคราวนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อเสนอนี้โดยตรงจากทรูมูฟ เป็นแต่เพียงการเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนเท่านั้น อีกทั้งบริษัทฯยังเห็นว่าเป็นแนวทางที่ไม่สามารถเป็นไปได้จริง ทั้งในแง่ของกฎหมาย เนื่องจากยังเป็นปัญหาในข้อกฎหมาย ที่กสทช. ต้องพิจารณาว่าจะเข้าข่ายเป็นการให้ผู้อื่นมาร่วมใช้คลื่นความถี่ของผู้รับใบอนุญาต ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 46 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ หรือไม่ อีกทั้งในทางปฏิบัติ ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ในเวลาอันสั้น เนื่องจากปัจจุบันลูกค้าเอไอเอส ใช้งานอยู่บนคลื่น 900 MHz ช่วงที่ 1 ซึ่งยังว่างอยู่ มิใช่ช่วงความถี่ของทรูมูฟเอช (ช่วงที่ 2)
"ที่ TRUE เสนอให้เอไอเอสใช้คลื่น 900 MHz ชุดที่ 2 นั้น ในทางปฏิบัติโครงข่าย 2G เป็นของทีโอที ซึ่งเอไอเอสได้เจรจากับทีโอทีที่จะเช่าใช้โรมมิ่ง และเอไอเอสเป็นผู้บริหารจัดการ ดังนั้นในทางปฏิบัติทำไม่ได้จริง สิ่งที่ทรูเสนอเป็นแค่คำพูดสวยหรู"นายสมชัย กล่าว