สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (7 - 11 มีนาคม 2558) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 568,946.59 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 113,789.32 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 16% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้ว จะพบว่ากว่า 71% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 402,338 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (state Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 123,037 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 16,391 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22% และ 3% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB25DA (อายุ 9.8 ปี) LB21DA (อายุ 5.8 ปี) และ LB196A (อายุ 3.3 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 18,699 ล้านบาท 17,949 ล้านบาท และ 16,078 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) รุ่น KK165A (A-) มูลค่าการซื้อขาย 2,043 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) รุ่น TOP273A (AA-(tha)) มูลค่าการซื้อขาย 1,430 ล้านบาท และหุ้นกู้ของบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) รุ่น LH169A (A+) มูลค่าการซื้อขาย 1,097 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงในเกือบทุกช่วงอายุตราสาร ประมาณ 2-6 bps. ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดได้รับผลกระทบจากการประมูลพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก ได้แก่ การประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 50 ปี (LB666A) ในวันพุธที่ 9 มี.ค. จำนวน 10,000 ล้านบาท ซึ่งมีความต้องการสูงกว่าวงเงินประมูลถึง 3.21 เท่า ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรุ่นดังกล่าวอยู่ที่ 3.249% ลดลงจากอัตราผลตอบแทนของวันก่อนหน้าถึง 25 bps. และส่งผลต่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวโดยเฉพาะตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไปปรับตัวลดลงประมาณ 5-15 bps. อย่างไรก็ตาม ในวันศุกร์ที่ 11 ตลาดเตรียมประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 15 ปี (LB296A) ในวันพุธหน้าอีก 10,000 ล้านบาท ทำให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวเพิ่มขึ้น 3-4 bps. โดยเฉพาะรุ่นอายุ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้น 6 bps.
ทางด้านปัจจัยต่างประเทศ วันอังคารที่ 8 มี.ค. จีนรายงานยอดส่งออกประจำเดือน ก.พ. ปรับลดลง 25.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 12.5% นับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน พ.ค. 2552 และส่งผลต่อตลาดหลักทรัพย์ของไทยซึ่งปรับลดลง 21.13 จุด ด้านการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในวันที่ 10 มี.ค. มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0% ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ จากระดับก่อนหน้าที่ 0.05% นอกจากนี้ยังได้ลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์นำมาฝากไว้กับ ECB สู่ระดับ -0.4% จากเดิมที่ระดับ -0.3% อย่างไรก็ตามในภายหลัง นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB ได้ส่งสัญญาณว่าจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกในอนาคต ส่งผลให้นักลงทุนค่อนข้างผิดหวังต่อคำพูดดังกล่าว ทั้งนี้ตลาดติดตามการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 14-15 มี.ค. โดยตลาดคาดการณ์ว่า BOJ น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์นำมาฝากไว้กับ BOJ ไว้ที่ -0.1% ต่อไปและคงวงเงินในการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นไว้ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี
สัปดาห์ที่ผ่านมา (7 มี.ค. - 11 มี.ค. 59) มีกระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิ 47,608 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) 49,797 ล้านบาท และขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปี) 2,189 ล้านบาท
หมายเหตุ: อันดับเครดิต หมายถึง อันดับเครดิตของหุ้นกู้เฉพาะรุ่น หรือ อันดับเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้
ความเคลื่อนไหวในตลาดตราสารหนี้ไทย สัปดาห์นี้ สัปดาห์ก่อนหน้า เปลี่ยนแปลง สะสมตั้งแต่ต้นปี (7 - 11 มี.ค. 59) (29 ก.พ. - 4 มี.ค. 59) (%) (1 ม.ค. - 11 มี.ค. 59) มูลค่าการซื้อขาย แบบปกติ - Outright Trading (ล้านบาท) 568,946.59 491,527.37 15.75% 4,726,842.23 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน (ล้านบาท) 113,789.32 98,305.47 15.75% 96,466.17 ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Gross Price index) 113.63 112.83 0.71% ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corp Bond Gross Price index) 108.63 108.55 0.07% เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Yield Curve) --% ช่วงอายุของตราสารหนี้ 1 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี 10 ปี 15 ปี 30 ปี สัปดาห์นี้ (11 มี.ค. 59) 1.39 1.4 1.4 1.5 1.61 1.97 2.3 2.94 สัปดาห์ก่อนหน้า (4 มี.ค. 59) 1.4 1.41 1.42 1.49 1.65 1.95 2.38 3 เปลี่ยนแปลง (basis point) -1 -1 -2 1 -4 2 -8 -6