ทั้งนี้ ตามนโยบายรัฐบาลจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งประเทศเพิ่มเป็นระดับ 19,685 เมกะวัตต์ภายในปี 79 แบ่งเป็นพลังงานลม3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันที่มีผู้ประกอบการได้รับ PPA แล้วราว 1,200-1,300 เมกะวัตต์, แสงอาทิตย์ 6,000 เมกะวัตต์ จาก PPA ราว 3,000 เมกะวัตต์, พลังน้ำ 3,282 เมกะวัตต์, ขยะ 550 เมกะวัตต์, ชีวมวล 5,570 เมกะวัตต์, ก๊าซชีวภาพ 600 เมกะวัตต์ และพืชพลังงาน 680 เมกะวัตต์
"ต่อจากนี้เราคงเน้นการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มาจากพลังงานลมมากกว่า เพราะการแข่งขันในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์สูงขึ้น และยังมีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้นอีก ทำให้เรามองว่าแม้เราจะลงไปเต็มตัว แต่ด้วยโควต้าที่มีอยู่คงจะถูกแบ่งค่อนข้างเยอะ ไม่เหมือนเมื่อก่อนที่ได้คนเดียว 300-400 เมกะวัตต์ ตอนนี้ถือว่ายาก ขณะที่ตัวเลขกำไรก็ไม่ใช่ว่าจะเหมือนเมื่อก่อน เพราะภาครัฐฯได้ปรับราคารับซื้อลงให้สอดคล้องต้นทุน ทำให้เรามองว่าหากจะโตตรงนี้ถือว่าลำบากแล้ว เราก็คงจะไปต่อแต่ไม่มากเหมือนเมื่อก่อน"นายอมร กล่าว
นายอมร กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทเตรียมพื้นที่และทำการสำรวจเพื่อรองรับการขยายกำลังการผลิตในโครงการพลังงานลมไว้แล้ว 300-400 เมกะวัตต์ ซึ่งหากภาครัฐฯจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม บริษัทก็พร้อมที่จะเข้าเสนอราคาและสามารถลงทุนได้ทันทีเมื่อได้รับ PPA
อย่างไรก็ตาม บริษัทก็อยู่ระหว่างศึกษาแผนการลงทุนในต่างประเทศด้วยเช่นกัน แต่คงยังต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งก่อนจะตัดสินใจเข้าไปลงทุน เช่น ในเมียนมาร์ แม้ปัจจุบันความต้องการใช้ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ในส่วนของสายส่ง สถานีไฟฟ้า ยังไม่สามารถรับไฟฟ้าที่มาจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลมได้ในปริมาณมากๆ ดังนั้น จึงต้องรอการสร้างระบบพื้นฐานให้แข็งแรงก่อน
ส่วนในฟิลิปปินส์ ยังถือว่ามีความเสี่ยง เนื่องจากต้องเข้าไปก่อสร้างก่อนถึงจะยื่นขอใบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ แต่เชื่อว่าในอนาคตภาครัฐน่าจะต้องปรับกฎเกณฑ์ใหม่เพื่อผลักดันให้โครงการต่างๆ เกิดขึ้นมาได้ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ให้ได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าก่อนเข้าลงทุน บริษัทก็สนใจที่จะเข้าไปลงทุนเช่นเดียวกัน
ส่ขณะที่การลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น บริษัทมองว่าอาจจะเหมาะกับผู้ที่ยังไม่มีธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และมีเงินทุนเหลือ หรือต้องการลดความเสี่ยงจากธุรกิจเดิม ขณะที่เงินลงทุนของบริษัทถือว่าค่อนข้างเต็มที่แล้วสำหรับการลงทุนในประเทศ แต่หากในอนาคตอีก 3 ปีหลังจากทุกโครงการแล้วเสร็จก็จะทำให้มีกระแสเงินสดกลับเข้ามาค่อนข้างมาก แนวทางการดำเนินธุรกิจอาจเปลี่ยนไป ซึ่งก็เป็นไปได้ที่จะเข้าไปลงทุนในญี่ปุ่นบางส่วนเพื่อกระจายพอร์ตการลงทุน
นายอมร กล่าวว่า บริษัทก็ยังศึกษาการขยายธุรกิจใหม่ๆ ต่อเนื่องควบคู่กันไปด้วย เพราะยังต้องการเป็นหุ้นบริษัทที่มีการเติบโต ที่พร้อมจะมีทั้งการจ่ายปันผล และการเติบโต ไม่ใช่เป็นเพียงหุ้นบริษัทปันผล (Dividend Stock) เท่านั้น
"ด้วยภาระเงินลงทุนที่เรามี ถามว่าเรามีเงินลงทุนไหมถือว่าค่อนข้างเต็ม สำหรับผลตอบแทนในประเทศญี่ปุ่น ผลตอบแทนคงเห็นที่ระดับ 8% หรือ 10% แต่การไปลงทุนขนาด 10-30 เมกะวัตต์ เรามองว่าไม่คุ้ม ถ้าจะลงแค่นี้เรามาหาลงทุนในประเทศดีกว่า แม้ว่าผลตอบแทนจะต่ำกว่า แต่ในแง่การลงทุนการทำงานถือว่าง่ายกว่าเยอะ คือการจะไปลงทุนในต่างประเทศเราต้องได้แผนระยะยาวมาจากเขาเลยว่าประเทศจะไปทางไหน และเราไปแล้วโตได้ 5-10 ปี ถ้าป็นแบบนี้ถึงจะคุ้มที่จะฟอร์มทีมแล้วก็เข้าไปลงทุนแบบเป็นเรื่องเป็นราว"นายอมร กล่าว
นายอมร กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในระยะสั้นปี 59-61 บริษัทมุ่งมั่นที่จะก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมทั้งหมดให้แล้วเสร็จตามกำหนด คือที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 โครงการ และจังหวัดสงขลา อีก 1 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตรวม 126 เมกะวัตต์ ให้แล้วเสร็จในช่วงครึ่งแรกปีนี้ ส่วนในครึ่งปีหลังบริษัทจะเริ่มเตรียมความพร้อมสำหรับการขึ้นโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมที่จังหวัดชัยภูมิ 5 โครงการ กำลังการผลิตรวม 260 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้ในปี 61 มีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเป็น 664 เมกะวัตต์ จากปีนี้จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 404 เมกะวัตต์
ผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมีกำไรสุทธิเติบโตอย่างโดดเด่น จากปีก่อนมีกำไรสุทธิอยู่ 2,687 ล้านบาท เนื่องจากในปีนี้จะรับรู้รายได้โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในจังหวัดพิษณุโลก กำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์เต็มปี และโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมที่ภาคใต้ กำลังการผลิตรวม 126 เมกะวัตต์ ที่จะสามารถ COD ได้ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ขณะที่สัดส่วนกำไรของบริษัทในปีนี้จะมาจากพลังงานทดแทนมากถึง 90% อีก 10% มาจากกำไรของธุรกิจไบโอดีเซล
"ปีนี้รายได้เราคงเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ 30% เมื่อเทียบกับปี 58 ที่มีรายได้ 9,212 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการรับรู้รายได้ในโครงการโรงไฟฟ้าที่จะสามารถ COD ได้เพิ่มเติม และธุรกิจไบโอดีเซลที่มีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ในทุกๆปี ซึ่งปีนี้แนวโน้มกำไรสุทธิเองก็คงจะเติบโตได้อย่างโดดเด่น เพราะสัดส่วนกำไรสุทธิจากพลังงานทดแทนสูงถึง 90% ขณะที่กำไรสุทธิจากไบโอดีเซลอยู่ที่เพียง 10% เท่านั้น"นายอมร กล่าว