ทั้งนี้ บิสซิเนสอะไลเม้นท์ เป็นผู้นำในการเป็นตัวแทนนำเข้า จำหน่าย ติดตั้ง และการให้บริการดูแลและซ่อมบำรุงเครื่องมือแพทย์ โดยเน้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็งเป็นหลัก
นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เปิดเผยว่า จุดเด่นและความน่าสนใจของบิสซิเนสอะไลเม้นท์ คือ ตัวผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ชุดเครื่องฉายรังสี และเครื่องมืออุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ชุดระบบคอมพิวเตอร์วางแผนการรักษา ชุดทวนสอบคุณภาพและปริมาณรังสี เป็นต้น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่เฉพาะทางที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จึงต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และความเข้าใจในผลิตภัณฑ์เป็นอย่างมากเพื่อดูแลและให้บริการกลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศ
นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการแต่งตั้งเป็นตัวแทนจำหน่ายชุดผลิตภัณฑ์จากบริษัทผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆในวงการแพทย์ด้านรังสีระดับโลก ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกา อีกทั้งปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งในประเทศมีเพิ่มมากขึ้น แต่เครื่องมือในการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงยังขาดแคลนอยู่อีกมาก ซึ่งทำให้ความต้องการเครื่องมือดังกล่าวอยู่ในระดับสูง ดังนั้นบริษัทเชื่อว่าด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง จะทำให้ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างแน่นอน
ด้านนายสมพงษ์ ชื่นกิติญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บิสซิเนสอะไลเม้นท์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการการระดมทุนครั้งนี้ ทางบริษัทมีแผนที่จะใช้เป็นทุนหมุนเวียนรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต เนื่องจากคาดว่าบริษัทมีแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจค่อนข้างมาก เพราะปัจจุบันเครื่องมือสำหรับการรักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูงยังมีไม่เพียงพอในประเทศไทย ดังนั้น หากบริษัทมียอดขายที่เพิ่มขึ้นก็จะต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนค่อนข้างสูง เพราะโครงการแต่ละโครงการที่บริษัทจำหน่ายมีมูลค่าที่สูง
“การตัดสินใจระดมทุนและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ หรือ mai ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่งของบริษัทที่จะช่วยสนับสนุนให้ธุรกิจของบริษัทมีโอกาสในการขยายธุรกิจให้เติบโตยิ่งขึ้น และทำให้บิสซิเนสอะไลเม้นท์เป็นที่รู้จักในวงการมากขึ้น พร้อมกันนี้ บริษัทฯยังคงไม่หยุดนิ่งที่จะพัฒนา และส่งเสริมคุณภาพชีวิตในด้านการดูแลสุขภาพ และการให้บริการด้านอุปกรณ์ และเครื่องมือแพทย์ด้านรังสีรักษา เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค และส่งเสริมคุณภาพชีวิตต่อประชาชน อันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต" นายสมพงษ์ กล่าว
ด้านแผนธุรกิจระยะกลางถึงระยะยาวนั้น บริษัทมีแผนที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์ในการจำหน่ายมากขึ้น โดยจะเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์เกี่ยวกับการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยหลังออกจากโรงพยาบาล (Homecare) เช่น เครื่องผลิตออกซิเจน เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการต่อยอดธุรกิจและกระจายความเสี่ยงต่อธุรกิจปัจจุบันของบริษัท ทั้งนี้มองว่าแนวโน้มของผลิตภัณฑ์ใหม่ดังกล่าวจะมีความต้องการใช้มากขึ้น โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น
สำหรับการดำเนินธุรกิจหลักของบริษัทฯเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การแพทย์ โดยเป็นผู้นำเข้าเครื่องมือแพทย์จากหลายประเทศทั่วโลก จากประสบการณ์กว่า 15 ปีกับสินค้าเครื่องมือแพทย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้นำทางด้าน เครื่องมือแพทย์ด้านรังสีรักษา เพื่อบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ให้แก่โรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน
บริษัทฯเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ Varian Medical System Inc. จากสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ IBA ประเทศเยอรมันนี ผลิตภัณฑ์ Themo Fisher ประเทศสหรัฐอเมริกา ผลิตภัณฑ์ Xstrahl ประเทศอังกฤษ และผลิตภัณฑ์ C Rad ประเทศสวีเดน นอกจากนั้นยังนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ CIRS ของสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ Radiation Product Design ของสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ Mobius ของสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ Deltabit ของฟินแลนด์
สินค้าของบริษัทแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ออกเป็น 5 ส่วน ดังนี้ 1. ผลิตภัณฑ์ประเภทชุดเครื่องฉายรังสี (Treatment Delivery) 2. ผลิตภัณฑ์ประเภทระบบคอมพิวเตอร์วางแผนการรักษา (Treatment Planning System) 3. ผลิตภัณฑ์ประเภทระบบฐานข้อมูลผู้ป่วยด้านรังสีรักษา (Oncology Information System) 4. ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องตรวจสอบและทวนสอบคุณภาพลำรังสีและแผนการรักษา (Quality Assurance and Pretreatment Verification Tool) 5. ผลิตภัณฑ์ประเภทอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ (Accessories) นอกจากนี้บริษัทยังมีการให้บริการซ่อมบำรุงรักษาชุดเครื่องมือทางการแพทย์ (Maintenance Service) ที่บริษัทได้จำหน่ายไปแล้ว
นายสมพงษ์ เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (56-58) มีรายได้รวม 685 ล้านบาท, 1,064 ล้านบาท และ 319 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่มีอัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยประมาณ 7-10%
บริษัทคาดว่ารายได้หลังจากที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai แล้วจะมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้ราว 700 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนที่มีรายได้ 319 ล้านบาท ปัจจุบันมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) 660 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการรับรู้รายได้ราว 7-12 เดือนหลังจากได้รับคำสั่งซื้อ นอกจากนี้บริษัทฯจะมีรายได้จากการบริการอีกราว 60-70 ล้านบาท
ขณะที่สัดส่วนรายได้ในปัจจุบันมาจากภาครัฐ 90% และในส่วนที่เหลือมาจากภาคเอกชนราว 10% โดยในอนาคตบริษัทฯหวังว่าภาคเอกชนจะให้ความสนใจและหันเข้ามาลงทุนในเครื่องมือแพทเกี่ยวข้องกับการรักษามะเร็งมากขึ้น โดยคาดว่าใน 3-4 ปี สัดส่วนรายได้จะเพิ่มขึ้นเป็น 20-30%
"ความต้องการเครื่องมือแพทที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคมะเร็งยังมีอีกมาก เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีเครื่องมือแพทที่เกี่ยวกับการรักษามะเร็งอยู่เพียง 1 เครื่อง ต่อประชากร 1-2 ล้านคน แต่ในประเทศสหรัฐมี 1 เครื่อง ต่อจำนวนประชากร 5 แสนคน บริษัทฯจึงมองว่ายังมีแนวโน้มการเติบโตอีกมาก"นายสมพงษ์ กล่าว