สำหรับหน่วยงานพันธมิตร 13 องค์กร ได้แก่ หอการค้าและหน่วยงานสมาคมการค้า จาก 10 ประเทศ ประกอบด้วย 1. หอการค้าและอุตสาหกรรม ประเทศบรูไน (NCCIBD) 2. หอการค้ากัมพูชา (CCC) 3. สภาธุรกิจจีน-อาเซียน (CABC) 4. หอการค้าและอุตสาหกรรมจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย (KADIN DKI JAKARTA) 5. สมาพันธ์สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมจังหวัดกิฟุ ประเทศญี่ปุ่น (GIFU) 6. หอการค้าและอุตสาหกรรมโอซากา ประเทศญี่ปุ่น (OCCI) 7. หอการค้าและอุตสาหกรรมโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (TCCI) 8. สมาคมผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศเกาหลี (KOIMA) 9. หอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งชาติลาว (LNCCI) 10. สหพันธ์หอการค้าและอุตสาหกรรมสหภาพเมียนมา (UMFCCI) 11.ธนาคารกสิกรไทย (KBank) 12. หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (TCC) 13.หอการค้าและอุตสาหกรรมเวียดนาม (VCCI)
การลงนามครั้งนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือใน 4 ด้าน ประกอบด้วย 1. การสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระยะยาวเพื่อร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค AEC+3 โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน และเทคโนโลยี 2. การแลกเปลี่ยนข้อมูลในเรื่องข้อมูลสถิติทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน และโอกาสทางการลงทุนระดับภูมิภาค 3. การแนะนำผู้ประกอบการที่มีความสนใจในการประกอบธุรกิจข้ามชาติ 4. การร่วมมือในการจัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้ และกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ
นายบัณฑูร กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารตระหนักว่าการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปีที่ผ่านมานั้นจะสร้างโอกาสทางธุรกิจมากมายแต่ก็ยังมีความท้าทายจากการแข่งขันทางธุรกิจที่สูงขึ้น รวมถึงคู่แข่งจากต่างประเทศที่จะเข้ามาในประเทศเพิ่มขึ้นทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้น และเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นภาคธุรกิจจำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน
ดังนั้น ธนาคารในบทบาทของสถาบันการเงินไทยที่ต้องการสนับสนุนและช่วยผลักดันธุรกิจให้พร้อมเติบโตไปยังต่างประเทศได้ จึงร่วมกับไฟแนนเชี่ยล ไทม์ จัดงานสัมมนา AEC+3 Business Forum 2016 : Reshaping a New Paradigm for Growth โดยเชิญผู้ก่อตั้งและผู้บริหารจากองค์กรระดับโลกที่ประสบความสำเร็จเพื่อเป็นการเปิดมุมมองและเสริมสร้างศักยภาพของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมให้แข็งแกร่ง พร้อมปรับตัวเพื่อเติบโตและยืนหยัดในรูปแบบการค้า-การลงทุนแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น
พร้อมทั้งมีบูธให้คำปรึกษาด้านการค้าการลงทุนในประเทศ CLMV ซึ่งประกอบด้วย กัมพูชา,ลาว ,เมียนมาร์ และเวียดนาม โดยผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาในแต่ละประเทศ และมีกิจกรรมการจับคู่เจรจาธุรกิจใหญ่สุดในรอบปี ใน 3 ประเภทอุตสาหกรรมได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม วัสดุก่อสร้าง และบริการทางการแพทย์ จาก 270 บริษัท ในกลุ่มประเทศ AEC+3 โดยคาดว่าจะเกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจจากงานนี้ได้ 300 คู่อีกด้วย
"ธนาคารกสิกรไทยได้วางยุทธศาสตร์การเป็นธนาคารแห่ง AEC+3 มาอย่างต่อเนื่อง โดยการขยายเครือข่ายบริการในภูมิภาคนี้ ควบคู่กับการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรในระดับภูมิภาค โดยธนาคารมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐานการให้บริการทางการเงินเพื่อรองรับเศรษฐกิจการค้าข้ามชาติได้อย่างครบวงจร"นายบัณฑูร กล่าว