ทริสฯจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 5,445 ลบ. ของ TPIPL ที่"BBB+/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday March 16, 2016 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 5,445 ล้านบาทของ บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) ที่ระดับ “BBB+" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “BBB+" โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่จำนวนประมาณ 3,000 ล้านบาทไปใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่มีอยู่เดิม (TPIPL165A) ส่วนที่เหลือจะใช้สำหรับเงินทุนหมุนเวียนและการลงทุนต่าง ๆ

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ตลอดจนการเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ในผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก LDPE homopolymer (LDPE) และ LDPE copolymer (EVA) นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการที่บริษัทมีสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและมีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับปานกลางด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมถึงความเสี่ยงจากต้นทุนราคาถ่านหินที่ผันผวน ประวัติการระดมทุนผ่านตลาดเงินที่ค่อนข้างสั้นของบริษัทหลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และภาระหนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นจากแผนการลงทุนที่เพิ่มขึ้น

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจปูนซีเมนต์เอาไว้ได้และผลประกอบการของธุรกิจเม็ดพลาสติกจะค่อย ๆ ฟื้นตัว ในขณะที่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรและเพิ่มฐานกระแสเงินสดโดยรวม อีกทั้งจะช่วยลดทอนความผันผวนจากธุรกิจพลาสติกได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าความสัมพันธ์ของบริษัทกับสถาบันการเงินต่าง ๆ จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 40% ในช่วง 2 ถึง 3 ปีข้างหน้า

อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเกินกว่า 40% หรือ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ในระดับต่ำกว่า 5% เป็นระยะเวลานาน เหตุการณ์ เช่น การล่าช้าของโครงการภาครัฐ หรือ ผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงไฟฟ้านั้นต่ำกว่าคาด ก็อาจจะส่งผลกระทบในแง่ลบต่อผลประกอบการของบริษัทรวมถึงอันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน ในทางกลับกัน อันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทประสบความสำเร็จในการดำเนินงานจากโครงการต่าง ๆ ของบริษัท และสถานะการเงินที่มีความเข้มแข็งมากขึ้น จากการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง และภาระหนี้สินที่ลดลง โดยสามารถเห็นได้จากอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมคงอยู่ที่ประมาณ 15% ในขณะที่เงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 30% บริษัททีพีไอ โพลีน ก่อตั้งในปี 2530 โดยตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ ณ เดือนธันวาคม 2558 ตระกูลเลี่ยวไพรัตน์มีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทคิดเป็นประมาณ 56% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด บริษัทดำเนินธุรกิจ 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์ (ผลิตภัณฑ์ปูนซีเมนต์และคอนกรีต) ธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติก (LDPE และ EVA) และธุรกิจผลิตไฟฟ้า บริษัทมีรายได้ในปี 2558 อยู่ที่ 2.83 หมื่นล้านบาท โดยรายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์คิดเป็น 69% ของรายได้รวม ในขณะที่รายได้จากธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติก และธุรกิจผลิตไฟฟ้าคิดเป็น 24% และ 6% ของรายได้รวมตามลำดับ สถานะทางธุรกิจของบริษัทอยู่ในระดับปานกลาง บริษัทเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับ 3 ของประเทศ โดยมีกำลังผลิตที่ 9 ล้านตันต่อปี และมีส่วนแบ่งทางการตลาดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 18% โรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งที่ 4 ของบริษัทซึ่งมีกำลังการผลิตที่ 4.5 ล้านตันนั้นได้เริ่มการผลิตเมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา บริษัทมีสายการผลิตปูนซีเมนต์ที่ครบวงจรตั้งแต่การผลิตปูนเม็ด ปูนซีเมนต์ ปูนสำเร็จรูป คอนกรีต กระเบื้องหลังคาคอนกรีต และไฟเบอร์ซีเมนต์ โดยความต่อเนื่องในสายการผลิตปูนซีเมนต์ทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาดและมีโครงสร้างต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ในตลาด ทริสเรทติ้งมองว่าโครงการขยายโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านการตลาดต่อบริษัทในระยะกลาง ถ้าหากความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศยังคงซบเซา กำลังการผลิตของปูนซีเมนต์ที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้สถานการณ์ตลาดที่มีสินค้าเกินความต้องการนั้นแย่ลงและก่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวบรรเทาลงบางส่วนด้วยตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทและการเร่งอนุมัติการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล บริษัทเป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก LDPE และ EVA รายใหญ่ของประเทศด้วยกำลังการผลิตที่ 158,000 ตันต่อปี ในปี 2558 บริษัทมีสัดส่วนทางการตลาดในประเทศสำหรับผลิตภัณฑ์ LDPE อยู่ที่ 20% และปัจจุบันเป็นผู้ผลิต EVA รายเดียวในประเทศ บริษัทเน้นการผลิต EVA เพื่อส่งออกเป็นหลัก ธุรกิจเม็ดพลาสติกของบริษัทมีความเสี่ยงจากการที่บริษัทซื้อวัตถุดิบ Ethylene จากผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากราคาที่ผันผวนของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ตลอดจนความท้าทายจากสินค้าทดแทน การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และการแข่งขันจากผู้ผลิตทั่วโลกด้วยเช่นกัน อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงประโยชน์จากการประกอบธุรกิจที่หลากหลาย โดยรายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์ที่อาจผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศจะได้รับการถ่วงดุลโดยรายได้จากการส่งออกผลิตภัณฑ์ EVA อันดับเครดิตของบริษัทมีข้อจำกัดบางส่วนจากประวัติการระดมทุนผ่านตลาดเงินที่ค่อนข้างสั้นหลังจากที่บริษัทออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ ประวัติการผิดนัดชำระหนี้และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของบริษัทในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในอดีตทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องมีการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของบริษัทอย่างระมัดระวังด้วยเช่นกัน ผลประกอบการในปี 2558 ของบริษัทนั้น ยังคงอ่อนแอต่อเนื่องโดยมีสาเหตุหลักจากความต้องการของสินค้าวัสดุก่อสร้างที่ซบเซา ในขณะที่ธุรกิจเม็ดพลาสติกนั้นมีกำไรที่ปรับตัวดีขึ้น และโรงงานผลิตไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 73 เมกะวัตต์ได้เริ่มสร้างรายได้ซึ่งมีอัตรากำไรที่สูงให้แก่บริษัท รายได้ของบริษัทลดลงประมาณ 4.5% เมื่อเทียบกันปีต่อปี เหลือ 28,381 ล้านบาทในปี 2558 อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนค่าเสื่อมราคาและการตัดจำหน่าย) ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 8.9% คงที่จากปีก่อนหน้า

อัตรากำไรที่ลดลงจากธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์นั้น ถูกชดเชยบางส่วนด้วยการฟื้นตัวของกำไรในธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติก และอัตรากำไรที่ดีจากธุรกิจผลิตไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม บริษัทมีภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กระแสเงินสดและสภาพคล่องของบริษัทนั้นด้อยลง โดยเห็นได้จากการที่บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานลดลงถึง 36.5% จากปีก่อนหน้า เหลือประมาณ 1,540 ล้านบาท ในขณะที่อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมลดลงเหลือ 4.1%ในปี 2558 จาก 8.8% ในปี 2557 ในปี 2558 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 40.2% สอดคล้องกับที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้ บริษัทได้มีการออกหุ้นกู้ขนาดใหญ่เพื่อไถ่ถอนเงินกู้จากสถาบันการเงินต่าง ๆ สัดส่วนหุ้นกู้ต่อเงินกู้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 28.9% ในปี 2557 เป็น 78.4% ในปี 2558 สะท้อนให้เห็นถึงการกระจุกตัวของแหล่งที่มาของเงินกู้ยืม และความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องที่สูงขึ้นจากการชำระงวดเดียวของหุ้นกู้ (Bullet Payment) ที่จะตามมาในอนาคต ทริสเรทติ้งยังคงมีมุมมองว่าผลประกอบการของบริษัทมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่ดีขึ้น และรายได้ใหม่จากโครงการที่บริษัทได้ลงทุนไป โดยเฉพาะโรงงานผลิตปูนซีเมนต์แห่งที่ 4 และโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิง RDF (Refuse-derived Fuel) ซึ่งมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตในสัญญาที่ทำกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็น163 เมกะวัตต์ในปี 2560 รายได้ต่อปีของบริษัทคาดว่าจะเติบโตขึ้นเป็นประมาณ 4 หมื่นล้านบาทใน 3 ปีข้างหน้า กระแสเงินสดของบริษัทจะมีขนาดใหญ่และมีความเสถียรมากขึ้นหลังจากรายได้จากโรงไฟฟ้ามีสัดส่วนเพิ่มขึ้น

ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานจะสูงขึ้นเป็น 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี ในอีก 3 ปีข้างหน้า และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมนั้นอยู่ปรับตัวดีขึ้นและอยู่สูงกว่า 15% อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทอาจจะเกิดจากความล่าช้าในโครงการลงทุนที่สำคัญของรัฐบาล กอปรกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของอุปทานในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนทุนของบริษัทคาดว่าจะต่ำกว่า 40% ในระหว่าง 3 ปีข้างหน้า โดยพิจารณาจากตารางการชำระเงินกู้ของบริษัท หลังจากออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ บริษัทจะมีกำหนดชำระเงินกู้จำนวนประมาณ 3,700 ล้านบาทในปี 2560 และ เพิ่มขึ้นเป็น 5,700-6,500 ล้านบาทต่อปี ในระหว่างปี 2561-2563 จำนวนเงินกู้ที่ต้องชำระนั้นมากกว่าเงินทุนจากการดำเนินงานที่ทริสเรทติ้งนั้นคาดการณ์ไว้ที่ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งแสดงถึงความเป็นไปได้ที่บริษัทอาจจะต้องกู้เงินเพื่อมาชำระเงินกู้เก่าแค่บางส่วน และส่งผลให้ระดับเงินกู้รวมนั้นลดลงช้ากว่าที่คาด ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะควบคุมให้อัตราเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า 40% เพื่อที่จะคงอันดับเครดิตไว้ที่ “BBB+"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ