อย่างไรก็ตามบริษัทยังไม่สามารถประเมินผลตอบแทนในเชิงของรายได้และกำไรจากโครงการนี้ได้ชัดเจนนักในขณะนี้ เนื่องจากเป็นโครงการต่อยอดจากกำลังการผลิตเยื่อชานอ้อยที่มีอยู่เดิม ดังนั้น จะต้องคำนึงถึงลูกค้าเดิมที่เคยสั่งซื้อเยื่อกระดาษชานอ้อยจากกลุ่ม KTIS ด้วย
"เราไม่ห่วงเรื่องตลาดหรือลูกค้าของบรรจุภัณฑ์จากชานอ้อย เพราะมีความต้องการรองรับอยู่แล้ว และการรักษาสิ่งแวดล้อมก็เป็นเทรนด์ใหญ่ของโลก แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่ม KTIS เราให้ความสำคัญกับลูกค้าที่เคยเป็นพันธมิตรกับเรามานาน การเริ่มธุรกิจใหม่ของเราจะต้องส่งผลกระทบกับลูกค้าเดิมของเราน้อยที่สุด เพราะนี่คือการเติบโตอย่างมั่นคง"นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว
นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวว่า ปัจจุบันกลุ่ม KTIS ได้ทำการผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษจากชานอ้อยในนามของบริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ KTIS ถือหุ้น 100% โดยในปี 58 มีรายได้ประมาณ 1,305 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 7% ของรายได้รวมของกลุ่ม KTIS ซึ่งนับเป็นอีกสายธุรกิจหนึ่งที่มีศักยภาพในการเติบโต โดยเยื่อกระดาษชานอ้อยจากโรงงานนี้ได้จำหน่ายให้กับผู้ผลิตกระดาษทิชชู่ กระดาษรีมที่ใช้ในสำนักงานทั่วไป รวมไปถึงกระดาษในรูปแบบอื่นๆ ซึ่งสามารถทดแทนการตัดต้นไม้ได้ถึงปีละ 32 ล้านต้น
ขณะที่กระบวนการผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อยของกลุ่ม KTIS ใช้กระบวนการฟอกขาวแบบปราศจากคลอรีน อีกทั้งเป็นผลิตภัณฑ์เยื่อกระดาษชานอ้อยรายแรกของประเทศไทยที่ได้รับมาตรฐานปลอดภัยต่อการบริโภค GMP & HACCP ดังนั้น จึงเหมาะสำหรับนำไปทำบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่อาหารดังกล่าว เพื่อใช้ทดแทนโฟม และมีผลดีอย่างมากกับสิ่งแวดล้อม เพราะทำมาจากชานอ้อยซึ่งย่อยสลายในเวลาอันรวดเร็ว